การศึกษาผลของเพคตินจากเปลือกกล้วยที่มีผลต่อคุณสมบัติทางกายภาพของฟิล์มบรรจุภัณฑ์ชีวภาพจากคาร์บอกซีเมลทิลเซลลูโลสจากทางปาล์ม

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ชนิดา ทองโรย, ภูริชญา สามัคคี, ชนัญชิดา น่าเยี่ยม

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

พรพัฒน์ ขวัญนิมิตร

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ที่มาและความสำคัญ

ในปัจจุบันถุงพลาสติกมีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 450 ปี หากนำไปเผาก็จะทำให้เกิดสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งทำให้เกิดโทษต่อระบบนิเวศและชีวิตของผู้บริโภคต่อเนื่อง กว้างขวาง และยาวนาน ในแต่ละสัปดาห์คนไทยนำถุงพลาสติกกลับบ้านมากกว่า 100 ล้านถุงหรือมากกว่า 5,000 ล้านถุง ในแต่ละปี การนำถุงพลาสติกไปใช้ซ้ำอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้ถุงพลาสติกใส่ขยะมูลฝอยจะทำให้เกิดการแปรสภาพขยะมูลฝอยในภาวะที่ขาดอากาศเป็นผลให้เกิดก๊าซพิษที่เป็นต้นเหตุของการเกิดภาวะเรือนกระจกและยังเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตทั้งทางบกและทางน้ำ มีการรายงานถึงขยะปริมาณมหาศาลที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ส่วนใหญ่เก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เป็นพลาสติก ทุก 1 ตารางไมล์จะพบถุงพลาสติก 46,000 ใบลอยอยู่ในมหาสมุทรซึ่งส่งผลให้แต่ละปีมีนกทะเลตาย 1 ล้านตัว และมีสัตว์ทะเลอื่นๆจำนวน 100,000 ตัว รายงานของนักวิทยาศาสตร์พบเศษพลาสติกในสิ่งมีชีวิต เช่น หนอนทะเล แมงกะพรุน โดยเศษขยะพลาสติกจะพันตัวสัตว์ ดังนั้นเราจึงต้องหันมาใช้ถุงผ้าหรือถุงพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติและไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางน้ำ

กระบวนการย่อยของฟิล์มบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ คือ การที่พลาสติกสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติโดย ขั้นตอนสุดท้ายจะถูกย่อยโดยจุลินทรีย์จนกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และมวลชีวภาพภายใต้อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม เช่น ความชื้นสัมพัทธ์ 50-60% อุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียส และจุลินทรีย์ในธรรมชาติหรือนำไปผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพภายในระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน ผลที่ได้จะไม่มีส่วนของพลาสติกและสารพิษหลงเหลืออยู่ ซึ่งจะไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ทางปาล์มเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่พบมากในท้องถิ่นและไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ จากการศึกษาพบว่า ทางปาล์มมีเซลลูโลสเป็นจำนวนมาก ซึ่งเซลลูโลสเหล่านี้สามารถนำมาสังเคราะห์เป็นคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสหรือซีเอ็มซีได้ (Carboxymethyl cellulose, CMC) โดยคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพมีบทบาทในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น อุตสาหกรรมซักฟอก สิ่งทอ กระดาษ เซรามิก และที่สำคัญคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสสามารถนำมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถใช้ทดแทนพลาสติกและสามารถย่อยสลายได้

จากการศึกษาพบว่าในเปลือกผลไม้มีเพคติน ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพหรือพอลิเมอร์ธรรมชาติสะสมอยู่ในปริมาณมาก เพคตินมีประโยชน์หลากหลายและมีการใช้กันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมาช้านาน โดยใช้เป็นสารเพิ่มความข้นหนืด สารก่อเจล ในผลิตภัณฑ์แยม เจลลี่ และสารเพิ่มความคงตัวของระบบคอลลอยด์ ซึ่งสกัดได้จากเซลล์พืช ได้แก่ ผลของพืชตระกูลส้มทุกชนิด แอปเปิ้ล แครอท กล้วย และถั่ว เป็นต้น เพคตินที่สกัดได้ส่วนใหญ่เป็นเฮทเทอโรพอลิแซคคาไรด์ ซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลอะราบิโนส น้ำตาลกาแลคโตส และกรดกาแลคทูโรนิก นอกจากนั้นยังพบว่าอุตสาหกรรมมีการนำเข้าเพคตินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากและมีราคาค่อนข้างสูง

คณะผู้จัดทำจึงได้ศึกษาเปลือกกล้วยหอมที่เป็นเศษเหลือทางการเกษตรจัดเป็นของเสีย นำมาสกัดเพคตินเพื่อลดปริมาณขยะทางการเกษตร ในการศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดเซลลูโลสจากทางปาล์ม เพื่อนำมาสังเคราะห์เป็นคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสแล้วนำมาผลิตเป็นฟิล์มบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ จากนั้นเติมเพคตินที่สกัดได้จากเปลือกกล้วยหอม เพื่อศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพ ได้แก่ ความหนา การละลายน้ำ และการต้านทานแรงดึงขาด ซึ่งฟิล์มบรรจุภัณฑ์ชีวภาพนี้สามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว สามารถใช้ทดแทนฟิล์มบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบัน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

วัตถุประสงค์

1.เพื่อเปรียบเทียบปริมาณเพคตินจากเปลือกกล้วยที่สกัดด้วยกรดไฮโดรคลอริกที่ความเข้มข้นต่างกัน และน้ำกลั่น

2.เพื่อสังเคราะห์คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสจากทางปาล์ม

3.เพื่อศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมของเพคติน : กลีเซอรอล : คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสจากทางปาล์มที่มีผลต่อ สมบัติทางกายภาพของฟิล์มบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ

ขอบเขตการศึกษา

1.เป็นการหาปริมาณเพคตินจากเปลือกกล้วยหอมที่สกัดด้วยกรดไฮโดรคลอริกที่มีความเข้มข้น 0.5% , 1% , 1.5% และ 2% และน้ำกลั่น

2.เป็นการสังเคราะห์คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสจากทางปาล์ม

3.เป็นการหาอัตราส่วนของเพคติน : กลีเซอรอล : คาร์บอกซีเมทิวเซลลูโลสจากทางปาล์มที่เหมาะสมต่อคุณสมบัติทางกายภาพ

สมมติฐานและตัวแปรที่ศึกษา

ตอนที่ 1 การเปรียบเทียบปริมาณเพคตินจากเปลือกกล้วยหอมที่สกัดด้วยกรดไฮโดรคลอริกที่ความเข้มข้นต่างกัน และน้ำกลั่น

สมมติฐาน : ปริมาณเพคตินจะเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของกรดไฮโดรคลอริก และน้ำกลั่นจะมีปริมาณเพคตินน้อยที่สุด

ตัวแปรต้น : ความเข้มข้นของกรดไฮโดรคลอริกและน้ำกลั่น 0.5% , 1% , 1.5% และ 2%

ตัวแปรตาม : ปริมาณของเพคตินที่ได้จากการสกัด

ตัวแปรควบคุม : ปริมาณน้ำ เอทิลแอลกอฮอล์ เปลือกกล้วยหอม ระยะเวลาที่ใช้ในการสกัด อุณหภูมิที่ใช้ในการสกัด ระยะเวลาที่ใช้ในการอบแห้ง และอุณหภูมิที่ใช้ในการอบแห้ง

ตอนที่ 2 การศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมของเพคติน : กลีเซอรอล : คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสจากทางปาล์มที่มีผลต่อสมบัติทางกายภาพของฟิล์มบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ

สมมติฐาน : อัตราส่วนของเพคติน : กลีเซอรอล : คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสจากทางปาล์มมีผลต่อสมบัติทางกายภาพของฟิล์มบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ

ตัวแปรต้น : อัตราส่วนของเพคติน : กลีเซอรอล : คาร์บอกซีเมทิวเซลลูโลสจากทางปาล์ม

ตัวแปรตาม : คุณสมบัติทางกายภาพของฟิล์มบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ

ตัวแปรควบคุม : ปริมาณน้ำ วิธีการคนสารละลาย ปริมาณสารละลายที่ใช้ในการขึ้นรูปฟิล์ม ระยะเวลาและอุณหภูมิที่ใช้ในการอบแห้ง วิธีการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพของแผ่นฟิล์ม

ประโยชน์ที่จะได้รับ

1.เพื่อนำวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

2.ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ชีวภาพสามารถย่อยสลายได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม