การศึกษาและเปรียบเทียบวัสดุเพาะเห็ดฟางจากกากถั่วเหลืองและเปลือกไข่บดที่มีผลต่อผลผลิตเห็ดฟาง

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

จิรัชญา ชัยสุริยะพันธ์, ธนัญชภร ผุดผ่อง

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ภูริชญา อินทรพรรณ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ในปัจจุบันเห็ดฟาง(Volvariella vovacea) เป็นเห็ดที่ผู้บริโภคนิยมมากเนื่องจากมีวิธีการเพาะที่ง่าย สะดวก มีคุณค่าทางอาหารอยู่ในเกณฑ์ที่สูงและราคาถูก ใช้เวลาในการเพาะน้อยประมาณ 5-9 วัน ใช้การดูแลรักษาง่าย ใช้พื้นที่และอุปกรณ์ในการเพาะน้อย ไม่ต้องใช้งบประมาณมากในการเพาะปลูกวัสดุที่นำมาใช้เพาะปลูกสามารถหาได้ทั่วไปตามท้องตลาดอีกทั้งยังสามารถเพาะได้ตลอดทั้งปีจึงเป็นที่นิยมของเกษตรกรหลากหลายครัวเรือน ลักษณะของเห็ดฟางที่มีคุณภาพตามข้อกำหนดขั้นต่ำต้องมีลักษณะเป็นดอกเห็ดฟางทั้งดอก ไม่เป็นดอกบานเห็ดมีความสดไม่เน่าเสีย ไม่มีตำหนิหรือเสื่อมคุณภาพ สะอาดปราศจากสิ่งแปลกปลอมที่มองเห็นได้และไม่มีศัตรูเห็ด(สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2558)

สารอาหารหลักๆที่เห็ดฟางต้องการได้แก่ ธาตุคาร์บอน ไนโตรเจนและเกลือแร่ ส่วนวัสดุเพาะเห็ดฟางต้องเป็นวัสดุจำพวกอินทรีย์ที่เชื้อราสามารถย่อยสลายได้และไม่มีสารที่เป็นพิษต่อการเจริญของเส้นใยเห็ดฟาง ถ้าหากวัสดุเพาะมีความเหมาะสม จะส่งผลให้ผลผลิตของเห็ดฟางสูงขึ้น ทางการเกษตรโดยวัสดุเพาะที่นิยมใช้มากที่สุด คือ ฟางข้าว (Kumhomkul &Panich-pat, 2014 ) แต่ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ตามปกติ จึงทำให้ราคาฟางข้าวอัดก้อนมีราคาที่สูงขึ้นจากก้อนละ 30 บาท มาเป็น 100 บาท และมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร และฟาร์มปศุสัตว์ (ไทยรัฐออนไลน์, 2558) นอกจากนี้ยังส่งผลให้ราคาต้นทุนการผลิตเห็ดฟางสูงขึ้นไปด้วยประกอบกับในบางพื้นที่มีการทำนาเพียงครั้งเดียว หรือไม่มีการทำนาในพื้นที่ ทำให้การจัดหาฟางข้าวเพื่อใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดฟางมีความยากลำบากมากขึ้น จึงต้องมีการหาวัสดุอื่นเพื่อนำมาเป็นวัสดุเพาะเห็ดฟาง โดยจะต้องเลือกจากวัสดุที่มีลักษณะใกล้เคียงกับฟางข้าว หาได้ง่าย และราคาต้นทุนไม่สูง ซึ่งมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลายอย่างที่สามารถทำมาทดแทนฟางข้าวได้ซึ่งเป็นวัสดุที่สามารถหาได้ง่ายตามท้องถิ่น

การเพาะเห็ดฟางสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบทั้งมีการดัดแปลงวัสดุเพาะปลูก วิธีการเพาะปลูก และอาหารเสริมซึ่งเป็นตัวช่วยทำให้เห็ดฟางเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิตของเห็ดฟางและปรับให้เอื้ออำนวยต่ออุปกรณ์และสภาพแวดล้อมที่ต้องการเพาะปลูก วิธีการเพาะเห็ดฟางมีการเพาะที่ไม่ยุ่งยาก และมีหลายวิธีได้แก่ การเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย การเพาะในโรงเรือนแบบปิด และการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าวิธีการเพาะเห็ดฟางจะไม่ยุ่งยาก แต่จำเป็นที่จะต้องมีการเลือกวัสดุเพาะปลูกให้มีความเหมาะสม

การใช้กากถั่วเหลืองและเปลือกไข่บดโดยทำการใส่เปลือกตาลเผาซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากทางการเกษตรจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการประหยัดฟางข้าว อีกทั้งกากถั่วเหลือง เปลือกไข่บด และเปลือกตาลเผายังมีธาตุอาหารที่เห็ดฟางต้องการได้แก่ กากถั่วเหลืองมีสารอาหารไนโตรเจน (Nitrogen) เปลือกไข่บดมีสารอาหารวิตามินบี 1 (thiamine)

เปลือกตาลเผามีสารคาร์บอน (ศูนย์เรียนรู้เกษตร 2558) ทางคณะผู้จัดทำจึงนำกากถั่วเหลือง เปลือกไข่บด และเปลือกตาลเผามาเป็นวัสดุในการเพาะเห็ดฟางเพื่อเปรียบเทียบผลผลิตของเห็ดฟาง

ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้คณะผู้จัดทำโครงงานมีความสนใจที่จะศึกษาและเปรียบเทียบผลผลิตเห็ดฟางจากกากถั่วเหลืองและเปลือกไข่บด เพื่อเพิ่มแนวทางและการนำไปประยุกต์ใช้ในการเพาะปลูกเห็ดฟางให้กับเกษตรกรต่อไป