การยับยั้งไนตริกออกไซด์และการกำจัดอนุมูลอิสระของน้ำพุร้อนเค็ม จังหวัดกระบี่

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

เขตโสภณ เอ้งฉ้วน, แพรววนิต เพ็ชรร่วง, นิศารัตน์ บุญเกื้อ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

อมรรัตน์ ชมญาติ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนอำมาตย์พานิชนุกูล

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

น้ำพุร้อนเค็มจังหวัดกระบี่เป็นน้ำพุร้อนเค็มแห่งเดียวของประเทศไทย และถือเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดกระบี่ ประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม โซเดียม เป็นต้น มีความเชื่อว่าสามารถบรรเทา และรักษาการปวดข้อ โรคความดันโลหิต ลดการอักเสบของผิวหนัง สมานแผล กระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ทำให้ผิวชุ่มชื้น ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวยังขาดข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นวัตถุประสงค์ของโครงงานคือการทดสอบการยับยั้งไนตริกออกไซด์ และการต้านอนุมูลอิสระของน้ำพุร้อนเค็มจังหวัดกระบี่ โดยเตรียมตัวอย่างน้ำพุร้อนเค็มจังหวัดกระบี่ออกเป็น 3 กลุ่มทดสอบ ได้แก่ กลุ่มธรรมชาติ กลุ่มกรองผ่านกระดาษกรองเพื่อกำจัดตะกอนและสิ่งสกปรก และกลุ่มนึ่งฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำ เจือจางน้ำพุร้อนเค็มที่ 5 ระดับความเข้มข้นได้แก่ 6.25, 12.5, 25, 50 และ100 เปอร์เซ็นต์ ทดสอบการต้านไนตริกออกไซด์ (nitric oxide radical, NO•) ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระกลุ่มที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสำคัญ (reactive nitrogen species; RNS) มีบทบาทเป็นโมเลกุลส่งสัญญาณทางสรีรวิทยา แต่หากปริมาณมากเกินอาจก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง ด้วยวิธี Griess reagent assay และการต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazy (DPPH) ผลการทดสอบรายงานเป็นเปอร์เซ็นต์การยับยั้งไนตริกออกไซด์ และเปอร์เซ็นต์การต้านอนุมูลอิสระของน้ำพุร้อนเค็มในแต่ละกลุ่ม และแต่ละความเข้มข้น ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานการยับยั้งไนตริกออกไซด์ และการต้านอนุมูลอิสระของน้ำพุร้อนเค็มจังหวัดกระบี่ ในการนำไปประยุกต์ใช้ในด้านอุตสาหกรรมน้ำดื่ม เครื่องสำอาง สนับสนุนงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ต่อไป