การประดิษฐ์เครื่องมือวัดความหนาแน่นของกระดูกด้วยคลื่นความเครียดเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ภัทรชัย ศาสตรานุรักษ์, อู่อุขวัญ เจริญกุล, ธนวัตน์ ตันวัฒนะ
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
มงคล สะพานแก้ว, จตุพร พันตรี
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นโรคที่ทำให้ความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดลงจนทำให้กระดูกเสื่อม เปราะบาง และมีโอกาสแตกหักได้ง่าย ในปี ค.ศ. 2022 พบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงเเละ 1 ใน 5 ของผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปเกิดภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน ซึ่งคิดเป็นจำนวนประชากรกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก โดยมักจะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ เเละสามารถรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ โดยทั่วไปผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคกระดูกพรุนเนื่องจากไม่มีอาการเเสดงออกใด ๆ
จนกว่าจะเกิดอุบัติเหตุซึ่งนำไปสู่ภาวะกระดูกหักในเวลาต่อมา ปัจจุบันวิธีที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนที่แม่นยำที่สุดคือการวัดความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่อง Dual Energy X-ray Absorptiometry scanner ซึ่งเป็นคลื่นพลังงานต่ำที่สะท้อนภาพเนื้อเยื่อกระดูก โดยวิธีนี้จะทราบผลการตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามเครื่องมือชนิดนี้ยังต้องอาศัยเทคนิคขั้นสูง ระยะเวลา เเละต้นทุนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังจำเป็นต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลเท่านั้น เเละเนื่องด้วยเหตุนี้ทางคณะผู้จัดทำจึงเกิดความสนใจที่จะศึกษาเเละประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้ในการวัดความหนาแน่นของมวลกระดุูกเพื่อวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน โดยเครื่องมือชนิดนี้จะส่งคลื่นความเครียดเข้าไปในกระดูก เเละกระดูกที่มีความหนาแน่นไม่เท่ากันจะทำให้เวลาที่คลื่นเคลื่อนที่ผ่านได้แตกต่างกัน หลังจากนั้นจึงนำเวลาที่ได้มาคำนวณการหาค่าความหนาแน่นของกระดูกโดยใช้ค่ามอดูลัสของยังและความเร็วของคลื่นความเครียด เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นนี้จะช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการตรวจสอบโรคกระดูกพรุน ช่วยลดค่าใช้จ่าย สร้างความสะดวกสบาย รวมไปถึงลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับตรวจสอบโรคกระดูกพรุน ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาเเละบรรเทาอาการได้อย่างทันท่วงทีเเละมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น