นวัตกรรมชุดทดสอบโลหะหนักในน้ำอย่างง่ายจากหลักการตรวจจับโลหะหนักของโปรตีนเมทัลโลไธโอนีน
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
กัญญาวีร์ จันสีนาก, กมลชนก ทองดอนหับ, เสฏฐนันท์ ลิขิตวิทยาไกร
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
สะอารอนิง ดาโอะ
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ปัญหาการปนเปื้อนของโลหะหนักในน้ำ ทำให้เกิดการดูดกลืนโดยสิ่งมีชีวิตซึ่งหากได้รับติดต่อกันเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และเกิดการสะสมในวงจรห่วงโซ่อาหารจนเป็นอันตรายถึงมนุษย์ จึงต้องมีวิธีการเพื่อตรวจหาโลหะหนักในน้ำแต่วิธีการที่มีอยู่เดิมแล้วนั้น เช่น วิธีการอะตอมแอปซอบชั่นสเปกโตรเมตรี (AAS) วิธีการอินดักทีฟลีคัพเพิลพลาสม่า หรือชุดทดสอบโลหะหนักในรูปแบบต่างๆที่มีขายทั่วไปยังคงเป็นการทดสอบที่มีราคาสูง และคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ยากทั้งในแง่ของวิธีการใช้งาน และองค์ประกอบที่นำมาใช้เพื่อพัฒนามีความยุ่งยากและซับซ้อน จากปัญหาดังกล่าวผู้จัดทำจึงได้คิดค้นนวัตกรรมชุดทดสอบโลหะหนักในน้ำอย่างง่ายจากหลักการตรวจจับโลหะหนักของโปรตีนเมทัลโลไธโอนีนขึ้น โดยเลือกใช้โปรตีนเมทัลโลไธโอนีนในถั่วเหลืองมาเป็นตัวจับกับโลหะหนัก ซึ่งเป็นโปรตีนน้ำหนักโมเลกุลต่ำ 6 - 7 kDa มีหมู่ thiol(-SH) อยู่ใน cysteine ทำให้สามารถจับกับโลหะหนักได้ โดยปริมาณโลหะหนักชนิด Zn Pb และ Co มีค่าการปนเปื้อนต่ำสุดที่เกิดการทำปฏิกิริยากับโปรตีนได้ที่ 0.0005 มก/ล. ซึ่งเป็นค่าที่ต่ำและดีต่อการตรวจสอบทำให้สามารถตรวจหาโลหะหนักได้หลากหลายค่า โดยนำมาทำเป็นชุดทดสอบในรูปแบบของการหยดสารโปรตีนลงในน้ำที่ปนเปื้อนโลหะหนัก และสังเกตการผลตกตะกอนเพื่อบ่งบอกถึงค่าของการปนเปื้อน โดยการนำโปรตีนที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้เป็นองค์ประกอบของชุดทดสอบนั้นทำให้มีราคาต้นทุนที่ถูก มีวิธีการใช้งานที่ง่าย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม