ถุงพลาสติกชีวภาพห่อผลผลิตทางการเกษตรจากเส้นใยธรรมชาติและยางพารา

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

วิภาวี สินสุริยะ, วรินทร พรเสรีกุล, วริศรา เกตุเล็ก

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

จิราภรณ์ บุตรราช, ณัฏฐนันท์ บุญเสมอ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทำเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก อาทิ การปลูกข้าว การปลูกดอกไม้ และโดยเฉพาะผลไม้ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ในขั้นตอนการผลิตยังมีบางขั้นตอนที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดขยะสิ่งแวดล้อม คือ วัสดุที่เกษตรกรนำมาห่อผลไม้เพื่อช่วยป้องกันความเสียหายที่เกิดจากโรคและแมลงศัตรูพืช ลดรอยขีดข่วน ลดตำหนิบนผิวจากการเสียดสีของกิ่ง การกระทบกระแทกที่เกิดกับผล การถูกแดดเผา ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตที่ได้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการห่อนั้น ส่วนมากทำมาจากพลาสติกเมื่อใช้เสร็จแล้วจะใช้เวลาในการย่อยสลายเป็นเวลานาน หรือถ้าทำจากกระดาษ ก็ไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้

ทางคณะผู้จัดทำจึงได้คิดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้โดย ศึกษาคุณสมบัติและอัตราส่วนของวัสดุพอลิเมอร์ธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตถุงพลาสติกชีวภาพห่อผลผลิตทางการเกษตร และในส่วนของวัสดุที่เลือกศึกษาคือ วัสดุพวกเส้นใยธรรมชาติและยางพารา ซึ่งเส้นใยธรรมชาตินี้เป็นวัสดุที่ประกอบด้วยเซลลูโลสเป็นส่วนใหญ่มีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ สามารถใช้เป็นวัสดุเสริมแรงให้กับพอลิเมอร์ได้ หาง่ายและมีราคาถูก มีความหนาแน่นต่ำจึงทำให้วัสดุที่ได้มีน้ำหนักเบา มีความแข็งแรง และสามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ ในส่วนของยางพาราเป็นยางธรรมชาติที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกได้ สามารถแข็งตัวได้เมื่อเจอกับกรด และสามารถหมุนเวียนในธรรมชาติได้ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับเส้นใยธรรมชาติได้ และนอกจากนี้ยังมีส่วนผสมของแทนนินจากเปลือกมะพร้าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการยับยั้งการเกิดเชื้อรา

ดังนั้นคณะผู้จัดทำจึงมีแนวคิดนำเส้นใยเซลลูโลสจากวัสดุทางธรรมชาติ มาสังเคราะห์เป็น CMC และนำมาขึ้นรูปเป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ และช่วยยับยั้งเชื้อราและแมลงศัตรูพืชได้