การพัฒนาวัสดุดูดซับจากผักตบชวาเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของสารเคมีและน้ำมันที่หกรั่วไหล จากห้องปฏิบัติการและโรงงานอุตสาหกรรม
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
วีรภัทรา แซ่จิว, พิมพ์มาดา น้อยสุพัฒน์
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
สายสุนีย์ จำรัส
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ปัญหาการแพร่กระจายของผักตบชวา พบในแทบทุกจังหวัดในประเทศไทย เนื่องจากผักตบชวาเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ง่ายและมีความทนทาน ผักตบชวา 1 ต้น สามารถให้เมล็ดได้ถึง 5,000 เมล็ด เมล็ดผักตบชวาเมื่ออยู่ในแหล่งน้ําจะมีชีวิตได้นานถึง 15 ปี หากเริ่มปล่อยผักตบชวาในแหล่งน้ำเพียง 10 ต้น ภายในระยะเวลา 1 ปี ผักตบชวาจะสามารถแพร่กระจายเพิ่มปริมาณได้ถึง 1 ล้านต้น อย่างไรก็ตาม การแพร่กระจายของผักตบชวาจำนวนมากนี้ยังไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการกำจัดทำลายอย่างยั่งยืน จากปัญหาที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทีมผู้พัฒนาจึงสนใจที่จะพัฒนาวัสดุดูดซับจากผักตบชวาเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของสารเคมีและน้ำมันที่หกรั่วไหลจากห้องปฏิบัติการและโรงงานอุตสาหกรรม เป็นการนำเอาผักตบชวามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย โดยการนำมาทำเป็นวัสดุดูดซับสารเคมีและน้ำมันที่หกรั่วไหล และเนื่องด้วยปัญหาการหกรั่วไหลของสารเคมีและน้ำมัน เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่หากมีวิธีการจัดการที่ไม่ถูกต้องก็อาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมตามบ้านเรือนได้ ในการศึกษาจะมีการพัฒนาวัสดุดูดซับจากผักตบชวาเป็นหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ แบบผง แบบท่อน และแบบแผ่น เพื่อนำมาเปรียบเทียบว่ารูปทรงมีผลต่อประสิทธิภาพในการดูดซับหรือไม่ สำหรับวัสดุดูดซับจากผักตบชวาที่ได้พัฒนาขึ้นนี้จะมีการเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับวัสดุดูดซับที่ขายตามท้องตลาด ซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ผลิตจากเส้นใยโพลีโพรพิลีนด้วย นอกจากนี้จะมีการศึกษาสมบัติและต้นทุนการผลิตของวัสดุดูดซับจากผักตบชวาที่พัฒนาขึ้นเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการนำไปใช้งานจริง วัสดุดูดซับจากผักตบชวาที่พัฒนาขึ้นนี้จะช่วยควบคุมการแพร่กระจายของสารเคมีและน้ำมันที่หกรั่วไหลจากห้องปฏิบัติการและโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างถูกวิธีและไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้งานได้ทั้งในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีหรือน้ำมัน