ฟิล์มคลุมดินจากเคราตินร่วมกับแป้งเมล็ดขนุน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

กฤตพร วงค์สะทำ, ปวีณ์กร บุตรเสงี่ยม, วริศรา โพธิ์ศรี

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

วณิชชา หมั่นเรียน

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

คณะผู้จัดทำมองเห็นถึงปัญหาของเศษผมจากร้านทำผมซึ่งมีปริมาณมากและจะต้องนำไปทิ้งโดยไม่ได้ใช้ให้ก่อประโยชน์ เช่นเดียวกับเมล็ดขนุนซึ่งเป็นสิ่งที่คนไม่นิยมกินจึงเหลือทิ้งเป็นขยะ จึงได้นำเคราตินร่วมกับแป้งจากเมล็ดขนุนมาขึ้นรูปเป็นแผ่นฟิล์มคลุมดิน โดยเตรียมเคราตินจากการนำเส้นผมล้างทำความสะอาด แล้วนำไปผึ่งให้แห้ง จากนั้นนำไปแช่ในเฮกเซน เพื่อกำจัดไขมัน นำยูเรีย โดเดคซิลซัลเฟต โซเดียมไฮดรอกไซด์ มาผสมกับน้ำกลั่น แล้วทำการไดอะไลซิสเพื่อกำจัดสิ่งเจือปนออก นำไปกรอง และให้ความร้อนจนได้เคราตินที่มีลักษณะหนืดข้น ในส่วนของแป้งเมล็ดขนุน นำเมล็ดขนุนมาล้างทำความสะอาด ลอกเปลือกออก ให้เหลือเฉพาะส่วนเนื้อด้านใน นำไปปั่นให้ละเอียด นำไปตากแดดจนแห้ง และนำมาปั่นด้วยเครื่องปั่นให้ละเอียด ขึ้นรูปเป็นแผ่นฟิล์มโดยใช้อัตราส่วนระหว่างเคราตินต่อแป้งเมล็ดขนุนเป็น 1:1,1:2 และ 2:1 จากการศึกษาพบว่าฟิล์มจากเคราตินร่วมกับแป้งเมล็ดขนุนในอัตราส่วนที่ 2:1 มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยแผ่นฟิล์มมีลักษณะทึบผิวเรียบ ค่อนข้างมัน ขึ้นรูปได้ดี มีค่าการละลายน้ำที่ต่ำสุดคือ 21.43±0.19 % ซึ่งเป็นค่าที่สามารถละลายน้ำได้ไม่มากเกินไปแต่ยังคงย่อยสลายได้ ทำให้มีระยะเวลาในการใช้งานแผ่นฟิล์มได้นาน สามารถควบคุมให้มีค่าความชื้นอยู่ที่ 50% - 69% ซึ่งเป็นค่าความชื้นที่พืชมีการเจริญเติบโตได้ดีที่สุด และสามารถควบคุมอุณหภูมิในดินให้เหมาะสมต่อพืชได้ โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อพืชอยู่ที่ประมาณ 15-40 องศาเซลเซียส