ผลของ BA และ 2,4-D ต่อการเจริญเติบโตและการต้านอนุมูลอิสระในเอ็มบริโอของต้นบัวหลวง

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ศรัณย์พร จรดล

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

พิมพ์เพ็ญ เธียรสิทธิพงศ์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

บัวหลวง (Nelumbo nucifera Gaertn.) เป็นพืชที่สามารถพบได้ในทุกสภาพพื้นที่ในประเทศไทยและพบว่าในดีบัวหลวงประกอบด้วยสารกลุ่มอัลคาลอยด์และฟลาโวนอยด์อยู่หลายชนิด มีฤทธิ์ต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันหรือมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเป็นยาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น แต่เนื่องจากปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในต้นบัวหลวงมีไม่มาก อีกทั้งยังยากต่อการขยายพันธุ์ จึงได้ทำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาแก้ไขปัญหา โดยทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อบนอาหาร 6 สูตร ได้แก่ MS (control), MS + BA 1 mg/L + 2,4-D 1 mg/L, MS + BA 1 mg/L + 2,4-D 2 mg/L, MS + BA 1 mg/L + 2,4-D 3 mg/L, MS + BA 2 mg/L + 2,4-D 1 mg/L, และ MS + BA 3 mg/L + 2,4-D 1 mg/L เพื่อชักนำให้เกิดการผลิตสารต้านอนุมูลอิสระ โดยบันทึกความยาว น้ำหนักสด และน้ำหนักแห้งทุก 1 สัปดาห์ และทดสอบการต้านอนุมูลอิสระด้วย DPPH assay และ Total phenolic content หลังจากเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นเวลา 4 เดือน