การพัฒนาบรรจุภัณฑ์กระดาษเคลือบสารสกัดหยาบจากใบพลูผสมแป้งมันสำปะหลังเพื่อควบคุมโรคแอนแทรคโนสในกล้วยหอม

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ชุดาพร ปัญญารัก, ณัฐภัทรา เป็งเขียว, รตนพร ภานุเมศวร์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ยุวดี แสนทรงสิริ, นวมินทร์ วงค์ไชย

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

กล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีปัญหาสำคัญในการส่งออกกล้วยหอมไปยังต่างประเทศคือปัญหาการเกิดโรคเน่าหลังการเก็บเกี่ยว หรือที่เรียกว่าโรคแอนแทรคโนส ( Antracnose ) ดังนั้นคณะผู้จัดทำจึงพัฒนาบรรจุภัณฑ์กระดาษที่มีสารสกัดหยาบจากใบพลูผสมแป้งมันสำปะหลังเป็นสารเคลือบผิวกระดาษเพื่อป้องกันโรคแอนแทรคโนส เริ่มจากการสกัดสารหยาบจากใบพลูในอัตราส่วนของใบพลูต่อตัวทำละลายเอทิลแอลกอฮอล์ 95 เปอร์เซ็นต์ (1:25), (2:25), (3:25) และ (4:25) จากนั้นนำกระดาษรีไซเคิลมาทำเป็นถุงกระดาษขนาด 33 x 44 x 33 เซนติเมตร แล้วนำแป้งมันสำปะหลังผสมสารสกัดหยาบจากใบพลูเคลือบบรรจุภัณฑ์กระดาษ จากนั้นนำมาทดสอบการยับยั้งเชื้อรา Colletotrichum musae (เชื้อราที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคแอนแทรคโนสของกล้วยหอม) โดยนำบรรจุภัณฑ์กระดาษที่พัฒนาขึ้นและมีสารเคลือบจากแป้งมันสำปะหลังผสมสารสกัดหยาบจากใบพลูมาบรรจุกล้วยหอมเพื่อหาความเป็นไปได้ในการยับยั้งเชื้อราบนผิวของกล้วยหอม ผลการทดลองพบว่าสารเคลือบบรรจุภัณฑ์กระดาษจากแป้งมันสำปะหลังที่ผสมสารสกัดหยาบจากใบพลูที่มีอัตราส่วนของใบพลูต่อตัวทำละลาย (4:25) สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Colletotrichum musae บนผิวของกล้วยหอมและสามารถเก็บรักษากล้วยหอมจากการขนส่งเป็นเวลา 30 วันโดยไม่พบเชื้อราตามธรรมชาติบนผิวหน้าของกล้วยหอมที่ห่อด้วยกระดาษที่พัฒนาขึ้น และสามารถยับยั้งเชื้อราตามธรรมชาติที่พบบนผิวของกล้วยหอมที่เก็บไว้ในสภาวะเร่งที่อุณหภูมิ 13-14 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-90 เปอร์เซ็นต์ได้