การพัฒนาแผ่นฟิล์มเคลือบผลส้มจากสารสกัดเมล็ดมะม่วงและไคโตซานเพื่อควบคุมโรคเน่าราสีเขียว
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
นคินทร์ ดอนไฟ, ณัฐชา หมื่นศรี, ธนธรณ์ รุ่งศรีวัฒนา
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
อาจรีย์ ธิราช
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
เนื่องจากในปัจจุบันกระแสนิยมรักสุขภาพได้รับการยอมรับและแพร่หลายไปทุกภูมิภาคของโลก ผู้บริโภคจึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพและโภชนาการที่ดี ส้มเป็นผลไม้ตระกูลซิตรัส (citrus) ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ด้วยเหตุนี้ทำให้ส้มเป็นที่นิยมของผู้บริโภคและถูกปลูกอย่างแพร่หลายในนานาประเทศ อย่างไรก็ตามผลผลิตส้มที่ได้มักจะได้รับความเสียหายจากโรคเน่าราสีเขียว ซึ่งถูกจัดเป็นโรคที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มโรคหลังจากการเก็บเกี่ยวของผลไม้ตระกูล citrus ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยส้มจำนวนมากไม่สามารถขายได้ และถูกทิ้งเนื่องจากไม่สามารถบริโภคได้
ทางผู้พัฒนาจึงมีความต้องการที่จะลดปัญหาความเสียหายของผลส้มที่เกิดจากโรคเน่าราสีเขียว โดยพัฒนาแผ่นฟิล์มเคลือบบนผิวส้มที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเชื้อรา Penicillium digitatum ในช่วงหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อยืดอายุในการเก็บรักษาผลส้มให้ยาวนานขึ้น การทดลองจะออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ การสกัดสารและตรวจสอบปริมาณสารประกอบฟีนอลจากเมล็ดมะม่วงที่มีฤทธิ์ในยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา การทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราของไคโตซานที่รวมกับสารสกัดที่ได้ในอัตราส่วนต่างๆ และการขึ้นรูปของแผ่นฟิล์มเคลือบพร้อมกับทดสอบความสามารถในการควบคุมโรคบนผิวส้ม
โดยวิธีการทำการทดลองเริ่มจากการนำเมล็ดมะม่วงที่อยู่ภายในแกนมะม่วงมาผ่านกระบวนการสกัด และวิเคราะห์หาปริมาณสารประกอบฟีนอลซึ่งมีความสามารถในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์และสามารถพบได้มากในเมล็ดมะม่วง จากนั้นนำสารสกัดหยาบที่ได้ไปทดลองผสมกับไคโตซานซึ่งมีความสามารถยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์เช่นเดียวกับสารประกอบฟีนอล และความสามารถในการเป็นสารเคลือบผิว เพื่อหาอัตราส่วนที่เหมาะสมในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ด้วยวิธี agar diffusion test จากนั้นเตรียมสารละลายสารประกอบฟีนอลและไคโตซานตามอัตราส่วนที่เหมาะสมที่สุด นำลงไปเทบนจานเพาะเลี้ยงเชื้อขนาด 25x150 มิลลิเมตร ที่ความสูงหรือความหนาของฟิล์มเท่ากับ 0.8 มิลลิเมตร นำแผ่นฟิล์มเคลือบที่ได้เคลือบบนผิวส้มที่ถูกฉีดเชื้อจุลินทรีย์บนผิวเปลือก วัดระยะเวลาการเก็บรักษา วัดระยะเส้นผ่าศูนย์กลางของบริเวณที่ติดเชื้อ วัดน้ำหนักที่หายไป วัดการเปลี่ยนแปลงของสีผิวเปลือกส้ม โดยใช้ chroma meter ศึกษาการเปลี่ยนแปลงบนผิวส้มโดยใช้ light microscope และ stereomicroscope และวัดอัตราการคายน้ำทุกๆ 5วัน เป็นเวลาทั้งหมด 20 วันเพื่อระบุความสามารถในการยับยังเชื้อจุลินทรีย์ของแผ่นฟิล์มเคลือบและความสามารถในการยืดอายุการเก็บรักษา