การพัฒนายาแอสไพรินประเภทแผ่นแปะโดยใช้อนุภาคเงินนาโนเพื่อบอกปริมาณยา

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สรวิศ ก่อกิจกุศล, สิรภพ กำแหงคุมพล, ธนภัทร จารุพันธุ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ณรงค์ศักดิ์ ขุนรักษา

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

แผ่นแปะยาที่ใช้สีของอนุภาคนาโนของเงิน (silver nanoparticles หรือ AgNPs) เป็นตัวบอกปริมาณยาและบรรจุยาแอสไพรินซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือด หรือกรดแกลลิกที่ช่วยรักษามะเร็งซึ่งทั้งคู่ต้องการความแม่นยำของปริมาณยาที่เข้าสู่ร่างกายในแผ่นแปะ เพื่อป้องกันการรับยาเกินขนาด ขึ้นรูปโดยใช้พอลิเมอร์สองชนิดคือ carboxymethylcellulose (CMC) และ Hydroxypropylmethylcellulose (HPMC) ในอัตราส่วน 1:1-1:5 (สูตร CH01-05) จากการทดสอบอนุภาคเงินนาโนกับแอสไพรินพบว่าสีมองเห็นไม่ชัดเจนนักเนื่องจากคุณสมบัติของแอสไพริน จึงมีการทดสอบกับกรดแกลลิกซึ่งไวต่อการเปลี่ยนสีมากกว่า พบว่าความเข้มข้นของอนุภาคเงินนาโนที่ 3% w/v เหมาะสมที่นำมาใช้งาน และพบว่าอนุภาคเงินนาโนความเข้มข้นดังกล่าวสามารถแสดงการเปลี่ยนสีเมื่อความเข้มข้นของกรดแกลลิกอยู่ระหว่าง 0.0% w/v ถึง 0.1% w/v เมื่อความเข้มข้นสูงเกินไปจะทำให้เกิดการอิ่มตัวของการเปลี่ยนสี ทำให้ไม่สามารถบอกปริมาณของกรดแกลลิกได้ ในส่วนของการทดสอบการขึ้นรูปแผ่นแปะพบว่าที่สูตร CH04 (อัตราส่วน CMC ต่อ HPMC เป็น 1:4) จะมีคุณสมบัติที่สามารถขึ้นรูปเป็นแผ่นแปะได้ดีที่สุดเนื่องจากมีความหนาค่อนข้างสม่ำเสมอ มีความเหนียว และมีความชื้นต่ำหลังการอบทำให้สามารถลอกแผ่นแปะออกจากแม่พิมพ์ได้ง่าย ดังนั้นผู้วิจัยจะนำผลความก้าวหน้าที่ได้ไปพัฒนาเพื่อประดิษฐ์เป็นแผ่นแปะในขั้นตอนต่อไป