การพัฒนาอุปกรณ์อนุบาลกล้าเอื้องผึ้งแรกปลูกจากโครงสร้างของชายผ้าสีดาเพื่อการปลูกคืนสู่ป่า

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สุวพิชญ์ ฟองนวล, ศุภิชา วิสูตรสกุล, ณัฐกฤตา หล้าอินถา

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

เกียรติศักดิ์ อินราษฎร, สุธิพงษ์ ใจแก้ว

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2562

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การตายของต้นกล้าในระยะแรกปลูกเป็นปัญหาสำคัญของการปลูกกล้าเอื้องผึ้งคืนสู่ป่า จากการสังเกตพบว่าเฟิร์นชายผ้าสีดามีการดำรงชีวิตที่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดทั้งในช่วงที่มีน้ำมากและช่วงที่ แห้งแล้งได้ดี และอีกปัญหาหนึ่งที่มีผลกับต้นกล้าในระยะแรกปลูกคือโรคพืชทั้งไวรัสแบคทีเรีย และราซึ่งราถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากสามารถปรับตัวให้เหมาะสบกับสภาพแวดล้อมได้ดี แพร่ระบาดได้ง่าย และรวดเร็ว โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุปกรณ์อนุบาลกล้ากล้วยไม้แรกปลูกจากโครงสร้างของชายผ้าสีดาด้วยสารเคลือบจากนาโนซิงค์ออกไซด์ โดยจากศึกษาโครงสร้างของชายผ้าสีดาที่พบในท้องถิ่น พบว่าในธรรมชาติชายผ้าสีดามีการเก็บ สะสมอินทรียวัตถุเพื่อเป็นแหล่งของธาตุอาหารและรักษาความชุ่มชื้นภายในใบกาบ (shield frond)นอกจากนี้ยังมีการวางตัวของใบจริง (fertile frond) ในทิศตะวันออกเสมอเพื่อรับแสงในตอนเช้าและใช้ต้นไม้ใหญ่ในการบังแสงในช่วงที่มีอุณหภูมิสูง จากลักษณะโครงสร้างสร้างดังกล่าวจึงนำออกแบบ แบบสร้างอุปกรณ์อนุบาลกล้ากล้วยไม้แรกปลูก โดยใช้เศษวัสดุในท้องถิ่นคือ กาบไผ่และแผ่นไบโอเซลลูโลสที่ได้จากการหมักเปลือกสับปะรดนำไปดูดซับธาตุอาหารสำหรับพืชก่อนนำมาซ้อนกันเป็นชั้นๆ สลับกันเลียนแบบใบกาบของชายผ้าสีดาที่เคลือบด้วยสารนาโนซิงค์ออกไซด์ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในอุปกรณ์อนุบาลกล้ากล้วยไม้ จากนั้นนำไปทดลองปลูกกล้าเอื้องผึ้ง (Dendrobium lindleyi) วิเคราะห์ความสามารถในการรองรับน้ำ การเก็บรักษาความชื้นและการเจริญเติบโตของต้นกล้าเอื้องผึ้ง พบว่า อุปกรณ์ดังกล่าวช่วยให้ต้นกล้าสามารถรองรับน้ำและเก็บรักษาความชื้นได้มากขึ้น 1.82 และ 1.58 เท่า ส่งผลให้ต้นกล้ามีการเจริญเติบโตสูงกว่าชุดควบคุม 2.46 เท่า ในการทดลอง สุดท้ายได้นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปทดลองปลูกต้นกล้าเอื้องผึ้งในป่าชุมชนโดยเลียนแบบการวางตัวของชายผ้าสีดา ปลูกนาน 3 เดือน พบว่าต้นกล้าที่ปลูกด้วยอุปกรณ์ดังกล่าวมีอัตรารอดตายสูงกว่าชุด ควบคุมถึง 3.24 เท่า นวัตกรรมนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการปลูกกล้ากล้วยไม้คืนสู่ป่า ก่อให้เกิดการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนต่อไป

คำสำคัญ; เอื้องผึ้ง กาบไผ่ อุปกรณ์อนุบาลกล้าเอื้องผึ้งแรกปลูก