การศึกษาและพัฒนาฟองน้ำเซลลูโลสคอมโพสิต เพิ่มสมบัติ super-hydrophobic เพื่อดูดซับคราบน้ำมัน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

จุฑามาศ แซ่เบ๊, ธีรศักดิ์ เพชรดี

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ศุภร อังษานาม

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนชลบุรี (สุขบท)

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การศึกษาและพัฒนาฟองน้ำเซลลูโลสคอมโพสิต เพิ่มสมบัติ super-hydrophobic เพื่อดูดซับคราบน้ำมัน เป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ที่จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำมันของเส้นใยฝ้าย นุ่น และสุพรรณิการ์ โดยการนำไปทดสอบประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันพืช จากการทดลองพบว่า เส้นใยฝ้ายมีประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำมันทุกประเภทได้เป็นอย่างดี มีค่าในการดูดซับน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันพืช มีค่าเป็นร้อยละ100, 89 และ94.5 ตามลำดับ จากนั้นนำเส้นใยฝ้ายไปเตรียมสารผสมหนืดในการขึ้นรูปฟองน้ำเซลลูโลสคอมโพสิต โดยศึกษาปริมาณสารละลายคาร์บอนไดซัลไฟด์ พบว่าปริมาณที่ดีมีผลต่อประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำมันของฟองน้ำเซลลูโลสคอมโพสิตจากเส้นใยฝ้ายที่ดีที่สุด คือ 25 มิลลิลิตร มีค่าประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำมันดีเซล น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันพืช เป็นร้อยละ 358.67, 298.35 และ341.45 ของน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ ศึกษาความเข้มข้นของอัตราส่วนปริมาณโซเดียมซัลเฟต พบว่าปริมาณโซเดียมซัลเฟตร้อยละ 50 มีประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำมันได้ดีที่สุด โดยมีค่าการดูดซับน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันพืช เป็นร้อยละ 339.67, 278.35 และ326.45 ของน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ สามารถรับแรงกดได้เฉลี่ย 21.55 นิวตัน และมีค่าความหนาแน่น 0.804 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งมีค่าความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำจึงสามารถลอยน้ำได้ และได้ทำการศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพฟองน้ำเซลลูโลสคอมโพสิตจากเส้นใยฝ้าย โดยเพิ่มคุณสมบัติไฮโดรโฟบิก ด้วยการเคลือบสาร silane coupling agent ที่มีความเข้มข้นร้อยละ 70 ปริมาณ 3 มิลลิลิตร พบว่า ฟองน้ำเซลลูโลสคอมโพสิตจากเส้นใยฝ้าย สามารถเพิ่มคุณสมบัติไฮโดรโฟบิก โดยมีประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำมันได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถดูดซับ น้ำมันดีเซล น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันพืช มีค่าประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำมัน คิดเป็นร้อยละ 398.76, 329.32 และ371.95 ของน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ โดยเป็นแนวทางในการพัฒนาวัสดุดูดซับเพื่อลดปัญหามลพิษทางน้ำ ในการบำบัดน้ำเสียที่มีการปนเปื้อนของน้ำมันในแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ