การประดิษฐ์เฝือกอ่อนจากยางพาราธรรมชาติเสริมแรงด้วยซิลิกาจากเถ้าปาล์มน้ำมัน เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการกระดูกร้าว

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พราวพรรษ กลั่นสุวรรณ, ศุภาพิชญ์ เทพแก้ว, ศุภิสรา ราชพัฒน์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ภาวิณา หะเทศ, หนึ่งฤทัย เกียรติพิมล

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ปัญหากระดูกแตก หัก และร้าว เป็นปัญหาการเจ็บป่วยซึ่งพบมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2564 มีผู้ป่วยในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เข้ารับการรักษาสูงถึง 178,000 คน ภาวะกระดูกแตก หัก และร้าวสามารถรักษาด้วยวิธีการเข้าเฝือก การพัฒนาเฝือกอ่อนจากยางพาราธรรมชาติเสริมแรงด้วยซิลิกาจากเถ้าปาล์มน้ำมัน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสกัดซิลิกาจากเถ้าปาล์มน้ำมันโดยใช้กรดซัลฟิวริกเเละกรดซิตริกในการตกตะกอน เพื่อเปรียบเทียบสมบัติเชิงกลของยางพาราธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการพรีวัลคาไนซ์ด้วยอัตราส่วนต่าง ๆ และเพื่อประดิษฐ์เฝือกอ่อนจากยางพาราธรรมชาติเสริมแรงด้วยซิลิกาจากเถ้าปาล์มน้ำมันและเปรียบเทียบสมบัติเชิงกล ได้แก่ ความต้านแรงดึง ความต้านแรงฉีกขาด ความแข็ง และเปอร์เซ็นต์การยืดตัวถาวรของเฝือกอ่อนจากยางพาราธรรมชาติเสริมแรงด้วยซิลิกาจากเถ้าปาล์มน้ำมันและเฝือกอ่อนจากปูนปลาสเตอร์ โดยนำน้ำยางข้น 60% เติมดิสเพอร์ชันของสารเคมี และซิลิกาที่สกัดจากเถ้าปาล์มน้ำมันมาเป็นสารเสริมแรงที่ช่วยปรับปรุงสมบัติเชิงกลและเพิ่มความคงทนของยางพารา เพื่อให้ได้น้ำยางคอมพาวด์ที่พร้อมสำหรับการพรีวัลคาไนซ์ แล้วนำไปขึ้นรูป และเปรียบเทียบสมบัติเชิงกล ได้แก่ ความต้านแรงดึง ความต้านแรงฉีกขาด ความแข็ง และเปอร์เซ็นต์การยืดตัวถาวรระหว่างเฝือกอ่อนจากยางพาราธรรมชาติเสริมแรงด้วยซิลิกาจากเถ้าปาล์มน้ำมันและเฝือกอ่อนปูนปลาสเตอร์ เฝือกอ่อนที่พัฒนาขึ้นนี้จะสามารถลดอาการแทรกซ้อนในผู้ป่วยกระดูกแตก หัก และร้าว อีกทั้งยังสามารถนำเทคนิคการพรีวัลคาไนซ์น้ำยางพาราโดยใช้ซิลิกาจากเถ้าปาล์มน้ำมันเป็นสารเสริมแรงไปต่อยอดในอุตสาหกรรมยางได้ และเพิ่มมูลค่าของเถ้าปาล์มน้ำมัน และยางพาราให้สูงขึ้นได้