การศึกษาผลของโลหะหนักต่อการเจริญเติบโตและเปรียบเทียบประสิทธิภาพการดูดซับโลหะหนัก ของแหนเป็ดใหญ่ (Spirodela polyrrhiza (L.) Schleid.)
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
พชร ชัยพินิจนรชาติ, เทพปรีชา ทีบุญมา
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ภาณุพงศ์ คำพานิชย์
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการดูดซับโลหะหนัก และศึกษาผลของโลหะหนักต่อการเจริญเติบโตของแหนเป็ดใหญ่ (Spirodela polyrrhiza (L.) Schleid.) โดยคัดเลือกแหนเป็ดใหญ่โดยใช้เกณฑ์การวัดปริมาณคลอโรฟิลล์ด้วยเครื่อง SPAD-502Plus การทดลองแบ่งออกเป็น 3 ตอน โดยขั้นตอนแรกศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับโลหะหนัก (ทองแดง: Cu) ของแหนเป็ดใหญ่ ทำการทดลองโดยเลี้ยงแหนเป็ดใหญ่จำนวน 100 ต้น/ชุดการทดลอง ในสารละลายคอปเปอร์ (II) ซัลเฟต (CuSO4) ที่ความเข้มข้น 0.2M 0.4M 0.6M 0.8M และ 1M เก็บข้อมูลเมื่อเวลาผ่านไป 1, 3, 5 และ 7 วัน พบว่า ปริมาณโลหะทองแดงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง การดูดซับโลหะทองแดงของแหนเป็ดใหญ่มีประสิทธิภาพในการดูดซับดีที่สุดที่ระดับความเข้มข้น 1M ขั้นตอนที่สองศึกษาผลของโลหะหนักต่อการเจริญเติบโตของแหนเป็ดใหญ่ วัดปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ และคลอโรฟิลล์ บี โดยการสกัดด้วยอะซิโตน จากนั้นนำไปวัดค่าการดูดกลืนแสงและคำนวณหาปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ และคลอโรฟิลล์ บี พบว่า ปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ และคลอโรฟิลล์ บีมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในทุกความเข้มข้น ขั้นตอนที่สามการนำแหนเป็ดใหญ่เลี้ยงในกระชังในแหล่งน้ำเสียจริง โดยเลี้ยงแหนเป็ดใหญ่ในกระชังขนาด 80 x 80 ตารางเซนติเมตร บริเวณสระน้ำโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรีเป็นเวลา 30 วัน จากนั้นจึงนำตัวอย่างน้ำเสียวัดปริมาณโลหะหนัก ภายหลังเสร็จสิ้นการทดลอง จากการวิจัยแสดงให้เห็นว่าแหนเป็ดใหญ่มีประสิทธิภาพในการดูดซับโลหะหนักได้ดีและมีอัตราการเจริญเติบโตที่เพิ่มขึ้น จึงสามารถใช้เป็นพืชต้นแบบในการดูดซับโลหะหนักในสภาพแวดล้อมได้