การพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมป่าหลังเกิดไฟป่าด้วยวัสดุปลูกทางอากาศ เลียนแบบโครงสร้างผลน้อยหน่าเครือ (Kadsura spp.)
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
จิรพนธ์ เส็งหนองเเบน, พรหมพิริยะ ขัตติยวงษ์, นฤพัฒน์ ยาใจ
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ขุนทอง คล้ายทอง
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ไฟป่าเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบตามมาค่อนข้างมากเนื่องจากเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ แต่จากช่วงหลายปีที่ผ่านมามีไฟป่าเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความสูญเสียด้านพันธุ์พืชจำนวนมาก ซึ่งการฟื้นฟูทั่วไปจะต้องใช้เจ้าหน้าที่ขนกล้าไม้ไปอย่างยากลำบาก คณะผู้จัดทำจึงมีความสนใจในการใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อเข้าถึงพื้นที่หลังเกิดไฟป่า จึงได้ทำการศึกษาหาแนวทางในการพัฒนาวัสดุหุ้มเมล็ดที่สามารถปล่อยจากที่สูงและสามารถเป็นแหล่งอาหารให้แก่พืชได้ โดยเริ่มจากการศึกษารูปทรงที่เหมาะสม พบว่า ทรงกลม ทรงกรวย และลูกบาศก์เป็นรูปทรงที่ไม่มีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นวัสดุหุ้มเมล็ด จึงได้ทำการศึกษาถึงลักษณะรูปทรงทางธรรมชาติและพบว่าของผลน้อยหน่าเครือมีรูปทรงที่เหมาะสมมากกว่าทรงกลม ทรงกรวย และลูกบาศก์ จึงได้นำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาวัสดุปลูกทางอากาศโดยได้ศึกษาถึงองค์ประกอบที่เหมาะสมพบว่าอัตราส่วนของเถ้าแกลบดำต่อขุยมะพร้าวที่ 1:3 เป็นอัตราส่วนที่เหมาะสม ซึ่งสามารถขึ้นรูปได้ดีและมีช่องว่างรูพรุนภายในมากกว่า 40% จากนั้นได้ทำการนำวัสดุปลูกทางอากาศไปทดลองปล่อยในระดับความสูงต่าง ๆ พบว่าในระดับความสูงที่ 50 เมตรมีการกระจายตัวของวัสดุปลูกมากที่สุด และจากการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 30 วัน พบว่าเมล็ดยางเหียง เมล็ดรัง และเมล็ดมะค่าโมงสามารถเจริญเติบโตได้หลังจากการปล่อยที่ระดับความสูง 40 เมตร อีกทั้งเมื่อทำการทดลองในภาคสนามในป่าทั้ง 3 ชนิด พบว่าวัสดุปลูกทางอากาศเลียนแบบโครงสร้างของผลน้อยหน่าเครือมีประสิทธิภาพในการกระจายตัวที่ดี และพบว่ามีอัตราการรอดชีวิตของเมล็ดพันธุ์มากกว่าร้อยละ 80