อาหารจิ้งหรีดจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ศศิฉาย เเก้วมหาสุริวงษ์, ธนภรณ์ เคนเหลา, อังศุวีร์ ศรีสุข

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สุกัลยา วงค์ใหญ่

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนพนมสารคาม "พนมอดุลวิทยา"

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ในการศึกษาการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตในการเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อหาวัสดุที่เหลือทิ้งในท้องถิ่นมาใช้เป็นอาหารของจิ้งหรีด ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงลดลง ตัวแปรที่ศึกษา ได้แก่ ชนิดของอาหารและชนิดของผงพืช ที่มีผลต่อการเพิ่มจำนวนการวางไข่ของจิ้งหรีด ในขั้นตอนแรกศึกษาอัตราการรอดชีวิตของจิ้งหรีด 3 สายพันธุ์ ได้แก่ จิ้งหรีดทองดำ (Gryllus bimaculatus) จิ้งหรีดทองแดง (Gryllus testaceus walker) และจิ้งหรีดลูกผสมระหว่างจิ้งหรีดทองดำกับจิ้งหรีดทองแดง เลี้ยงด้วยอาหารไก่ผลการทดลอง พบว่า จิ้งหรีดลูกผสมมีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าสองสายพันธุ์ ส่วนอาหารที่ผลิตขึ้นจากวัสดุเหลือทิ้งมีจำนวน 3 สูตร ได้แก่ สูตรกากมะพร้าว 50 % สูตรกากมันสำปะหลัง 50 % และสูตรใบกระถิน 25 % โดยใช้วิธีการคำนวณแบบPearson’s squar โดยนำมาเลี้ยงจิ้งหรีดเปรียบเทียบกับอาหารไก่ พบว่า สูตรกากมันสำปะหลัง 50 % มีการเจริญเติบโต และอัตราการรอดชีวิตใกล้เคียงกับกลุ่มที่เลี้ยงด้วยอาหารไก่ แต่มีจำนวนการวางไข่น้อยกว่า ส่วนการศึกษาการเพิ่มจำนวนการวางไข่ของจิ้งหรีดลูกผสมโดยใช้พืชจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ใบสัก หญ้าแพรก และใบหม่อน ผสมเข้าไปในอาหารสูตรกากมันสำปะหลัง 50 % พบว่า ใบสักที่ผสมอาหารจิ้งหรีด สูตรกากมันสำปะหลัง 50 % มีผลทำให้จำนวนการวางไข่ของจิ้งหรีดมากกว่ากลุ่มการทดลองอื่น ๆ จากการศึกษาประสิทธิภาพของอาหารสูตรกากมันสำปะหลัง 50 % ผสมใบสัก 30 % ณ สภาพจริง พบว่า อาหารจิ้งหรีดสูตรกากมันสำปะหลัง 50 % ผสมใบสัก 30 % มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับอาหารไก่ และยังมีต้นทุนที่ถูกกว่าอาหารไก่ ถึง 9.78 บาทต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็น 59 %