เครื่องสำรวจกู้ชีพแบบควบคุมระยะไกล: นีมาโทดรอยด์

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ชิษณุพงศ์ คงกระพันธ์, ภูนรินทร์ บรรดาพิมพ์, ชุติพนธ์ ประจักษ์ธีรนนท์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

นฤพล จันคำ, วชรภูมิ​ เบญจ​โอฬาร​

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การพังถล่มของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นเหตุการณ์ที่พบเห็นได้บ่อยทั่วโลก จากสถิติตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005-2023 พบว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 550,000 คน การเข้าค้นหาและช่วยเหลือ (Search and Rescue) ผู้ประสบภัยของหน่วยกู้ภัยนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยต้องเลือกจุดที่เฉพาะในการค้นหาผู้ประสบภัย ซึ่งมีขอบเขตการค้นหาที่จำกัด เป็นไปอย่างล่าช้า และมีความเสี่ยงต่อทั้งผู้ประสบภัยและหน่วยกู้ภัย ในปัจจุบันการใช้หุ่นยนต์สำรวจ (Survey Robot) จึงเข้ามามีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการค้นหาผู้ประสบภัยในบริเวณที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตามการพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจเพื่อใช้ในเหตุการณ์ในลักษณะนี้นั้นมีอยู่ไม่มาก เนื่องจากผู้พัฒนาส่วนใหญ่ประสบกับปัญหาความท้าทายในเรื่องของการเคลื่อนที่ และมีต้นทุนที่สูง จากปัญหาที่ได้กล่าวมาข้างต้น คณะผู้พัฒนาจึงได้พัฒนาหุ่นยนต์สำรวจแบบควบคุมระยะไกลที่มีความสามารถในการเคลื่อนที่ได้ในทุกทิศทาง มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นผิวหลังการพังถล่มของอาคารและมีต้นทุนที่ต่ำ ในการพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจได้ให้ความสำคัญในกระบวนการออกแบบเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ และได้นำ Mecanum wheel ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหุ่นยนต์ โดยหุ่นยนต์สำรวจมีกล้องส่งสัญญาณภาพสด (Live) ออกมาให้ผู้ควบคุมหุ่นยนต์ได้เห็นผู้ประสบภัยและสภาพภายในของซากปรักหักพัง นอกจากนี้การที่หุ่นยนต์สำรวจสามารถเข้าถึงบริเวณที่หน่วยกู้ภัยไม่สามารถเข้าถึงได้นั้น หน่วยกู้ภัยยังจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างต่าง ๆ ภายในซากปรักหักพัง ซึ่งมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) และประเมินสถานการณ์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย หุ่นยนต์สำรวจที่พัฒนาขึ้นนี้จะช่วยให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว สามารถวางแผนได้จากด้านนอกของซากปรักหักพัง โดยลดความเสี่ยงและช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต (Survival Rate) ให้มีมากยิ่งขึ้น