การศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของกลีบดอก เกสร รากบัว ก้านบัว จากดอกบัวหลวง เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโพรไบโอติกคีเฟอร์น้ำดอกบัวหลวง

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ภิญญาพัชญ์ ปริศนานันทกุล, วิรดา ฤทธิคุปต์, ปพิชญา นาคพน

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ธีร์นวัช นันตา

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ปัจจุบันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีแนวโน้มหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะการรับประทานอาหารสุขภาพ (Functional Foods) เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้มูลค่าทางการตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพชนิดใหม่ออกสู่ท้องตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ดอกบัวหลวงเป็นดอกบัวที่คนไทยนิยมนำมาปลูกเพื่อประดับบ้านเนื่องจากมีสีสันที่สวยงาม ดูแลง่าย และมีความเชื่อกันว่าเป็นไม้มงคล ดอกบัวหลวงถือเป็นดอกไม้ที่สามารถนำไปใช้เพื่อรักษาและป้องกันโรคภัยต่าง ๆ ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ดอกบัว เม็ดบัว รากบัว ไหลบัว สายบัว ใบบัว เกสรบัว และดีบัว จึงถูกจัดให้อยู่ในตำรับยาพิกัดบัวพิเศษและตำรับยาหอมเทพจิตร ในภาคเหนือถูกจัดเป็นผักพื้นเมืองของภาคเหนือที่ถูกใช้รักษาแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่จะนำดอกบัวสายไปต้มและประกอบอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ถือเป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่กำลังมาแรงและได้รับความสนใจทั่วโลก เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถบริโภคได้ในชีวิตประจำวัน โดยจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์เป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีประโยชน์ในระบบทางเดินอาหาร สามารถเติบโตได้ดีเป็นพิเศษในลำไส้ ซึ่งแย่งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรคได้ดี มีการผลิตเอนไซม์ วิตามิน และสารต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยช่วยส่งเสริมระบบการย่อยและช่วยปรับสมดุลในระบบทางเดินอาหาร รวมถึงสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ดี คณะผู้จัดทำจึงสนใจพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโพรไบโอติกส์ไฟเบอร์สูงจากคีเฟอร์ดอกบัวหลวงโดยใช้กระบวนการที่ไม่ซับซ้อน เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและยังสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่สนใจในการดูแลสุขภาพในหลายมิติได้อีกด้วย