ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดฟีนอลิกในใบหม่อนต่อการลดการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมตในผลแอปเปิ้ล

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ชลมาศ ปัญญาหล้า, ชมพูนุท ดอนอินผล, กฤติมา ไอ่ใส่

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สุมารินทร์ นิโรจน์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนแม่จันวิทยาคม

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดฟีนอลิกจากใบหม่อนต่อการลด

การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมตที่ตกค้างในผลแอปเปิ้ล

ศึกษาผลของตัวทำละลายต่อการสกัดสารฟีนอลิกในใบหม่อนและผลความเข้มข้นของสารสกัดฟีนอลิก

ต่อการลดปริมาณสารเคมีทางการเกษตร โดยเปรียบเทียบประสิทธิภาพสารสกัดที่ได้จากใบย่านางแดง

ใบรางจืดและใบหม่อน จากผลการทดลอง พบว่า 1) การศึกษาผลชนิดตัวทำละลายต่อการสกัดสารฟีนอลิก

ในใบหม่อน โดยใช้ตัวทำละลายเป็น เอทิลแอลกอฮอล์ ความเข้มข้นร้อยละ 95 , 76 และ 66.5 โดยปริมาตร

พบว่า ความเข้มข้นร้อยละ 95 โดยปริมาตร สามารถสกัดสารฟีนอลิกได้มากที่สุด คิดเป็น 3.44% โดยมวล

  1. ประสิทธิภาพของสารสกัดฟีนอลิกจากใบหม่อนในการลดสารตกค้างกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต

เปรียบเทียบกับใบย่านางแดงและใบรางจืด โดยใช้ชุดทดสอบมาตรฐานจีที (GT-Pesticide residual kit)

พบว่า ผลแอปเปิ้ลที่แช่ในสารสกัด ฟีนอลิกจากใบหม่อนความเข้มข้น 1.50% w/v สามารถลดสารตกค้าง

ในแอปเปิ้ลได้ โดยอยู่ในระดับไม่พบสารตกค้าง (0% Inhibition) เทียบเท่ากับสารสกัดจากใบรางจืด

ซึ่งแตกต่างจากชุดควบคุมที่ตรวจพบสารตกค้างอยู่ในระดับไม่ปลอดภัย(≥50% Inhibition)

  1. เมื่อความเข้มข้นของสารสกัดลดลงประสิทธิภาพในการลดสารตกค้างลดลงตามลำดับ จากการทดลองพบว่า

ความเข้มข้นของสารสกัดฟีนอลิกต่ำสุด 0.50% w/v สามารถลดสารตกค้างอยู่ในระดับปลอดภัย

และสารสกัดเข้มข้น 1.5%w/v ลดการตกค้างของสารเคมีได้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม โครงงานเรื่องนี้จะมีการพัฒนาต่อยอดเพื่อศึกษารูปแบบการนำไปใช้งานให้สะดวก

เหมาะสมและการศึกษาการคงสภาพของสารสกัดเมื่อระยะเวลาผ่านไป