โมบายโคมไฟพลังงานลม

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สกาวรัตน์ โคตรสาลี, ลัลล์ลลิล กองเอียด, นภสร เกษเหมือน

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สมศักดิ์ คงสกุล

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ในพระอุปถัมภ์ฯ

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

บทคัดย่อ

ในปัจจุบันนี้ทางเดินบริเวณสวนสาธารณะ ริมชายหาด ในเวลากลางคืนยังคงมีผู้คนที่ออกมาเดินเล่น เดินออกกำลังกาย รวมถึงไปนั่งทำกิจกรรมต่างๆหรือบริเวณหน้าบ้าน ริมระเบียงที่ส่วนใหญ่ในตอนกลางคืน ยังคงต้องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงงานซึ่งผลิตจากถ่านหิน น้ำมันหรือปิโตรเลียม โดยมีราคาค่อนข้างสูงและยังทำให้เกิดควัน ซึ่งเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและยังคงมีปัญหาในเรื่องของการต้องต่อสายไฟจากแหล่งจ่ายไฟที่สถานที่ต่างๆ เพื่อนำไปใช้งาน ทางคณะผู้จัดทำจึงมีแนวคิดที่จะสร้างเป็นโมบายโคมไฟพลังงานลมขึ้นมา ซึ่งให้ประโยชน์ทั้งด้านการใช้งานและความสวยงามโดยในเวลากลางวันให้ความสวยงามเป็นโมบายประดับตกแต่งบริเวณต่างๆและในตอนกลางคืนสามารถนำมาใช้เป็นไฟส่องทางบริเวณสวนสาธารณะ ทางเดิน หน้าบ้านหรือริมระเบียง เป็นต้นและยังสามารถเป็นที่ชาร์จแบตโทรศัพท์ได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นการนำพลังงานลมทางเลือกมาใช้เพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้าและช่วยลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังช่วยลดปัญหามลพิษและค่าไฟที่แพงขึ้น ณ ปัจจุบัน

ในการดำเนินงานทางคณะผู้จัดทำได้นำหลักการของ ไมเคิล ฟาราเดย์และเลนซ์ มาเป็นแนวทางในการผลิตโมบายโคมไฟพลังงานลมซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมที่เป็นพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพลังงานลมเราสามารถพบได้โดยทั่วไปและปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ได้เพียงพอต่อการทำให้หลอดไฟขนาดไม่เกิน 12 โวลต์ติดและชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนรูปพลังงานกลจากพลังงานลมที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าของโมบายโคมไฟพลังงานลม เพื่อศึกษาความเร็วลมและจำนวนรอบของการหมุน เพื่อศึกษาลักษะของกังหัน เพื่อศึกษาปริมาณกระแสไฟฟ้า ความต่างศักย์ไฟฟ้าและกำลังไฟฟ้า เพื่อศึกษาการนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโมบายโคมไฟพลังงานลมมาประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กในครัวเรือน

ผลการศึกษาพบว่า พลังงานกลจากพลังงานลมสามารถเปลี่ยนรูปไปเป็นพลังงานรูปแบบอื่นได้ดังนั้น จึงสามารถเปลี่ยนรูปของพลังงานกลจากพลังงานลมมาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ส่วนรูปทรงและลักษณะของอุปกรณ์ที่เหมาะต่อการทำเป็นโมบายโคมไฟพลังงานลม คือ อุปกรณ์ที่มีรูปทรงของกังหัน แบบแนวแกนตั้ง แบบซาโวเนียส ซึ่งใบพัดจะประกอบด้วยครึ่งวงกลม 3 ชุด ล้อมรอบเพลาแกนกลาง มีข้อดีคือ เริ่มการหมุนที่รวดเร็วให้แรงบิดที่ต่ำ โดยปริมาณของกระแสไฟฟ้าและความต่างศักย์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโมบายโคมไฟพลังงานลม ส่งผลให้กำลังไฟฟ้าและพลังงานไฟฟ้า ที่ได้จากโมบายโคมไฟพลังงานลม คือ 5 วัตต์ และ18 กิโลจูลต่อชั่วโมงตามลำดับ เมื่อนำพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากโมบายโคมไฟพลังงานลมมาทดสอบกับอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กในครัวเรือน นั่นก็คือ หลอดไฟซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่สะสมเก็บไว้ในตัวเก็บประจุ เมื่อนำมาต่อเข้ากับวงจรของหลอดไฟ พลังงานไฟฟ้าที่ได้มานั้น สามารถทำให้หลอดไฟ 12 โวลต์ สว่างได้