การสร้างโมดูลไพทอนเพื่อการคำนวณทรานซิททางดาราศาสตร์

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ภูษนัฐ จะระนิล

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

นายศรสนั่น นนที

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ดาราศาสตร์เป็นสาขาที่เกี่ยวกับการศึกษาเกี่ยวกับวัตถุในท้องฟ้า รวมทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆที่เกิดขึ้นนอกชั้นบรรยากาศของโลก การทดลองและคำนวณทางดาราศาสตร์เป็นการทดลองและคำนวณที่ต้องใช้ข้อมูลจากการสังเกตและเก็บข้อมูลด้วยอุปกรณ์ชนิดพิเศษสำหรับการทดลองนั้นๆ จึงทำให้ข้อมูลที่ได้นั้นมีขนาดใหญ่และยากที่จะใช้ในการศึกษา ตัวอย่างของการทดลองที่ต้องใช้ข้อมูลขนาดใหญ่คือวิธีการหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะโดยใช้กระบวนการ transit หาการมีอยู่ของดาวเคราะห์โดยอาศัยการบดบังแสงของดาวเคราะห์และคำนวณหาคุณสมบัติต่างๆของดาวเคราะห์นั้นๆ นักดาราศาสตร์จึงจะต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการช่วยคำนวณ transit และจัดการกับข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ เพื่อที่จะสามารถคำนวณและวิเคราะห์ผลการทดลองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับวิธีการที่ใช้ในการคำนวณนั้นมักเป็นการเขียนโค้ดโดยมีภาษาที่นิยมใช้อย่างเห็นได้ชัดคือภาษา python เพราะเป็นภาษาที่เหมาะกับการจัดการข้อมูลและใช้ในการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ การเขียนโปรแกรมคำนวณนั้นจะต้องใช้ความเข้าใจและการเขียนโค้ดที่ค่อนข้างซับซ้อนจึงทำให้ต้องใช้เวลาเป็นอย่างมากผู้จัดทำจึงมีความคิดที่จะจัดทำโครงงานสร้าง module python ขึ้นมาเพื่อลดเวลาในการเขียนโค้ดคำนวณ transit ของดาวเคราะห์และใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลของ NASA คำนวณคุณสมบัติของดาวเคราะห์นั้นๆเช่น รัศมี คาบการเคลื่อนที่รอบดาวฤกษ์ และเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้กับข้อมูลจริงเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแม่นยำ และทำให้ผู้ที่สนใจในการเขียนโค้ดคำนวณ transit ของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใช้ศึกษาและพัฒนาต่อไปได้