การผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากของเหลือใช้ในโรงงานปลาป่นและศึกษาประสิทธิภาพของปุ๋ยอินทรีย์น้ำต่อการเจริญเติบโตของผักสลัด
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ซูไฮรี ราโมง, ธนภรณ์ แก้วมาก
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ณัฏฐากร วรอัฐสิน
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
น้ำต้มปลาเป็นวัสดุเศษเหลือที่ได้มาจากโรงงานการผลิตปลาป่นซึ่งมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์เมื่อนำไปหมักในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน หลังเสร็จสิ้นกระบวนการหมักจะได้ปุ๋ยอินทรีย์ในรูปของเหลวที่มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชทั้งธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำวัสดุเศษเหลือจากโรงงานผลิตปลาป่นมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำสำหรับใช้ในการปลูกผักสลัดกรีนคอสและศึกษาประสิทธิภาพของปุ๋ยอินทรีย์น้ำต่อการเจริญเติบโตของผักสลัดกรีนคอสเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เมื่อนำปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ได้จากการหมักวัสดุเศษเหลือเป็นเวลา 2 เดือน มาวิเคราะห์ธาตุอาหาร พบว่า มีปริมาณธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน คิดเป็นร้อยละ 2.52 1.15 2.09 1.29 0.18 และ 0.15 ตามลำดับ และมีค่า pH เท่ากับ 4 การศึกษาการเจริญเติบโตของผักสลัดกรีนคอสโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 และปุ๋ยอินทรีย์น้ำผสมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หลังจากย้ายปลูกผักสลัดเป็นเวลา 18 วัน พบว่าความกว้างทรงพุ่ม ความสูง และน้ำหนักสดของผักกรีนคอสที่ให้ปุ๋ยทั้ง 3 สูตรมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ โดยการรดด้วยปุ๋ยอินทรีย์น้ำมีการเจริญเติบโตดีที่สุด สำหรับความยาวรากและน้ำหนักแห้งของผักสลัดกรีนคอสที่ปลูกโดยการใส่ปุ๋ยทั้ง 3 สูตรพบว่าไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ดัชนีการเกิดโรคและระดับความรุนแรง ผักสลัดกรีนคอสที่ปลูกโดยรดปุ๋ยอินทรีย์น้ำและปุ๋ยอินทรีย์น้ำผสมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 มีดัชนีการเกิดโรคร้อยละ 96 ระดับความรุนแรงต่ำ ในขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีมีดัชนีการเกิดโรคร้อยละ 100 ความรุนแรงระดับปานกลาง นอกจากนี้เมื่อวิเคราะห์ปริมาณคลอโรฟิลล์ในผักกรีนคอสที่ปลูกโดยรดปุ๋ยทั้ง 3 สูตร พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสติติ ดังนั้นปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเศษเหลือที่ได้มาจากโรงงานการผลิตปลาป่นสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำซึ่งมีปริมาณธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองเป็นไปตามมาตรฐานพระราชบัญญัติปุ๋ย เรื่องการกำหนดเกณฑ์ปุ๋ย พ.ศ. 2557 และสามารถส่งเสริมให้พืชมีการเจริญเติบโตได้ดี