การศึกษาประสิทธิภาพสารสกัดราเอนโดไฟต์จากใบกระชายขาว เพื่อยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย Salmonella sp. และ Staphylococcus aureus
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
กัญญาภัค ร่วมรัตนตรัย, กัญญาพัชร ร่วมรัตนตรัย, ไพลิน ตั้งสุนทรวิวัฒน์
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
เมษสุวัลย์ พงษ์ประมูล
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
อาหารเป็นพิษเป็นภาวะที่ร่างกายได้รับอาหารที่มีการปนเปื้อนของแบคทีเรียหรือสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการท้องร่วงซึ่งความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับชนิดของสารพิษที่แบคทีเรียสร้างขึ้นและปล่อยออกมา การรักษาผู้ป่วยในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะในการกำจัดหรือยังยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการอาหารเป็นพิษมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากทางการแพทย์เลือกใช้ยาปฏิชีวนะในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะจะให้ผลการยับยั้งที่ดีถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด แต่ในขณะเดียวกันถ้าผู้ป่วยที่ใช้ยาไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จะส่งผลให้แบคทีเรียดังกล่าวเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะทำให้ผลการรักษาในครั้งถัดไปไม่ได้ผล ทำให้ต้องใช้ปริมาณยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้ป่วยตามมา ปัจจุบันมีงานวิจัยที่เพิ่มทางเลือกโดยการใช้สารออกฤทธิ์จากสิ่งมีชีวิตหนึ่งเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลชีพที่ก่อให้เกิดอาการท้องร่วง ผู้วิจัยจึงสนใจราเอนโดไฟต์ซึ่งอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของพืชหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือต้นกระชายขาว โดยราเอนโดไฟต์นี้จะสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกรุกรานของจุลชีพชนิดอื่น งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากราเอนโดไฟต์ที่ได้จากใบอ่อนของต้นกระชายขาวที่สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอาหารเป็นพิษ ชนิด S. aureus และชนิด Salmonella sp. โดยมีขั้นตอนการทดลองดังนี้ 1. การแยกราเอนโดไฟต์จากใบอ่อนของต้นกระชายขาวด้วยเทคนิคปลอดเชื้อภายในตู้ปลอดเชื้อ class II โดยตัดส่วนของใบอ่อนต้นกระชายขาวไปฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ 70% และ โซเดียมไฮโปรคลอไรด์ 5 % และ น้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว จากนั้นตัดตัวอย่างใบอ่อนต้นกระชายขาวบริเวณกลางใบ ขนาด 1 ตารางเซนติเมตร นํามาเลี้ยงบนอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA (ที่เติมยาปฏิชีวนะ penicillin) เป็นเวลา 3-5 วัน จะสังเกตเห็นการเจริญเติบโตของเส้นใยรา จากนั้นตัดปลายเส้นใยรา (hypha tip) มาเลี้ยงบนอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA เมื่อเส้นใยราเจริญ ตัดส่วนปลายเส้นใยรา (hypha tip) ลงบน water agar เมื่อเส้นใยราเจริญเติบโตแล้ว ทำการตัดเส้นใยราที่บริสุทธิ์ภายใต้กล้องสเตอริโอแล้วนำเส้นใยราเลี้ยงในอาหาร PDB เป็นเวลา 3-4 สัปดาห์ 2. การเพิ่มจำนวนของราเอนโดไฟต์ใน PDB เป็นเวลา 3-4 สัปดาห์ เพื่อสกัดสารสกัดหยาบ โดยใช้กระดาษกรองแยกเส้นใยราและน้ำเลี้ยงราออกจากกันแล้ว สกัดน้ำเลี้ยงราด้วยตัวทำละลาย ethyl acetate ในอัตราส่วน น้ำเลี้ยงรา : ethyl acetate เป็น 2 : 1 ส่วนเส้นใยราแช่ด้วย methanol เป็นเวลา 2 วัน แล้วสกัดต่อด้วยเฮกเซน นำส่วนของสารละลายเฮกเซนไประเหยแห้ง และนำส่วนของสารละลาย aqueous MeOH มาสกัดต่อด้วย ethyl acetate ในอัตราส่วน aqueous MeOH : ethyl acetate เป็น 2 : 1 ตามลำดับ หลังจากนั้นจังนำมาระเหยแห้งจะได้สารสกัดหยาบจากน้ำเลี้ยงราและเส้นใยรา 3. การเพาะเลี้ยง S. aureus และชนิด Salmonella sp. บนอาหารแข็ง NA ด้วยเทคนิคปลอดเชื้อ 4. การทดสอบประสิทธิภาพของราเอนโดไฟต์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ด้วยวิธี agar disc diffusion โดยเก็บตัวอย่างน้ำเลี้ยงราไปสกัดสารสกัดหยาบรา (ชุดทดลอง) เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ Minimal Inhibitory Concentration (MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถกําจัดเชื้อจุลินทรีย์ Minimum Bactericidal Concentration (MBC) แล้วนําผลการทดลองมาวิเคราะห์ผลทางสถิติเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับยาปฏิชีวนะที่ต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งสองชนิด (ชุดควบคุม)