ผลของปริมาณสารตัวเติมต่อสมบัติของยางแยกการสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์จากยางคลอโรพรีน
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
อลิฟ อามีเราะ, ฟูรซาน บาซอ
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ตุลยพงษ์ ตุลยพิทักษ์
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ยางจัดเป็นวัสดุประเภทพอลิเมอร์ชนิดหนึ่งที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อใช้ในการผลิตชิ้นงานรวมถึงเป็นองค์ประกอบของเครื่องจักรที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีชิ้นส่วนยางซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ยางรถยนต์ ยางขอบประตู ยางท่อ ยางกันกระแทก ยางแยกการการสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ ฯลฯ โดยการใช้งานวัสดุยางในผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลมาจากคุณสมบัติเชิงกลและเชิงวิศวกรรมที่ดีของยางรวมถึงมีความสอดคล้องกับการนำไปใช้
โครงงานนี้ต้องการศึกษาผลิตภัณฑ์ยางแยกการสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ ซึ่งมีคุณสมบัติดูดซับและสามารถแยกการสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเครื่องยนต์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวของเครื่องยนต์รวมถึงโครงสร้างอื่นๆของรถยนต์จากแรงสั่นสะเทือน ลดเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นกับห้องโดยสารและช่วยยืดอายุการใช้งานของโครงสร้างต่างๆให้นานขึ้น
ผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยางแยกการสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์จากยางสังเคราะห์ชนิดคลอโรพรีน ให้มีคุณสมบัติและอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการเลือกที่จะศึกษาและพัฒนายางสังเคราะห์ชนิดคลอโรพรีนเนื่องจากยางคลอโรพรีนเป็นยางสังเคราะห์ที่มีสมบัติเชิงกลใกล้เคียงกับยางธรรมชาติ แต่มีความทนทานต่อโอโซน ออกซิเจน ความร้อน และสภาพแวดล้อมได้ดีกว่ายางธรรมชาติ อีกทั้งยางคลอโรพรีนยังมีความทนทานต่อน้ำมันและตัวทำละลายที่ไม่มีขั้วดีกว่ายางธรรมชาติ ดังนั้นถ้าสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางแยกการสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์จากยางคลอโรพรีนได้ จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ มีคุณสมบัติเชิงกลที่ดีกว่ายางทั่วไป
โครงงานนี้จะศึกษาผลของปริมาณสารตัวเติมต่อสมบัติเชิงวิศวกรรมและสมบัติการใช้งานของยางแยกการสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์จากยางคลอโรพรีน ได้แก่ ความถี่ธรรมชาติ ความแข็ง ความแข็งแรง สมบัติเชิงกลพลวัต ความสามารถในการส่งผ่านและแยกการสั่นสะเทือน ซึ่งเป็นสมบัติที่จำเป็นสำหรับการใช้งานผลิตภัณฑ์ยาง