การศึกษาคุณสมบัติของแผ่นฟิล์มคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสจากใบตอง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ชัญญา เอกคุณานนท์, ธนาธร คุ้มเจริญ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ศุภาวรรณ ห่วงช้าง

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2562

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม จึงมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ออกมาในหลายรูปแบบ เช่นคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส ซึ่งเป็นอนุพันธ์รูปหนึ่งของเซลลูโลสที่สามารถสกัดได้มาจากพืช เป็น “พอลิเมอร์ชีวภาพ” ที่มีสมบัติละลายน้ำได้ และนำไปใช้ในการผลิตฟิล์มคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส เพื่อนำมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ และใบตองยังมีความเกี่ยวพันธุ์กับวิถีชีวิตของคนไทย ในอดีตนิยมนำใบตองมาประดับพานร่วมกับดอกไม้ เพื่อใช้ในงานพิธีการต่าง ๆ ทำให้ผู้จัดทำคิดที่จะทำโครงงาน เพื่อผลิตฟิล์มคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสจากใบตองและเพื่อนำแผ่นฟิล์มไปพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ โดยสกัดเยื่อเซลลูโลสจากใบตอง และนำเยื่อที่ได้ไปสังเคราะห์เป็นคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส แล้วนำไปขึ้นรูปเป็นแผ่นฟิล์มตามอัตราส่วนต่าง ๆ ด้วยวิธีการใช้สารละลาย แล้วนำไปอบ จากนั้นนำไปทดสอบสมบัติของแผ่นฟิล์ม ได้แก่ ความหนา การละลายน้ำ การต้านทานแรงดึงขาด ร้อยละการยืดตัว และโมดุลัสของยัง การซึมผ่านไอน้ำ ปริมาณความชื้น แล้วนำข้อมูลมาบันทึกและวิเคราะห์ผล ทำให้ทราบคุณสมบัติของการใช้ใบตองในการมาสังเคราะห์เป็น CMC ทำให้ทราบผลของการใช้คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสจากใบตองมาขึ้นรูปเป็นแผ่นฟิล์ม สามารถนำแผ่นฟิล์ม CMC มาพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ และเป็นแนวทางของผู้ที่สนใจในการสังเคราะห์ CMC ใบตอง