การศึกษาและพัฒนาสารตรวจลายนิ้วมือแฝงบนวัตถุที่ไม่มีรูพรุนโดยใช้สมบัติของสารลดแรงตึงผิว

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

จุฬาลักษณ์ สังขวลี, นภัส โกสินทรานนท์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

แคทลียา สมแปง

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การตรวจลายนิ้วมือแฝงเป็นกระบวนการสำคัญในการพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การปัดผงฝุ่น การรมควัน รวมถึงการตรวจด้วยวิธี NOTOUCH FINGERPRINT DETECTING SPRAY (FPD) ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย เนื่องจากสารเคมีจากต่างประเทศมีราคาสูง โครงงานครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสารตรวจลายนิ้วมือแฝงบนวัตถุไม่มีรูพรุนให้มีราคาถูกและใช้ตรวจลายนิ้วมือแฝงบนพื้นผิวที่หลากหลายได้ ผู้ศึกษาได้นำกระเทียมซึ่งมีมากในพื้นที่ภาคเหนือ มาสกัดสารซาโปนินและตรวจสอบสมบัติของสารซาโปนินโดยทดสอบการเกิดฟอง พบว่าซาโปนินมีสมบัติเป็นสารลดแรงตึงผิวและใช้ในการตรวจลายนิ้วมือแฝงได้ และยังได้นำสาร Sodium Lauryl Sulfate ที่มีราคาถูกและใช้ทั่วไปในอุตสาหกรรมมาใช้เป็นสารลดแรงตึงผิวในสารตรวจลายนิ้วมือแฝง ร่วมกับการใช้ผง Carbon black และ

ผงสีฝุ่น โดยผู้ศึกษาได้พัฒนาสารตรวจลายนิ้วมือแฝง 9 สูตร ด้วยอัตราส่วนที่เหมาะสม และนำไปทดสอบบนวัตถุ ได้แก่ แก้วใส พลาสติก (PET) เซรามิค สแตนเลส อะลูมิเนียมฟอยล์ และกระเบื้อง ด้วยวิธีการฉีดพ่น

เมื่อนำภาพลายนิ้วมือแฝงที่ปรากฏไปวิเคราะห์ผลด้วยการวิเคราะห์จุดลักษณะสำคัญพิเศษ (Minutiae) พบว่า สารตรวจลายนิ้วมือแฝงสูตร 1B 1C 2B 2C 3B และ 3C ที่มีส่วนประกอบของสารลดแรงตึงผิว

ใช้ตรวจลายนิ้วมือแฝงได้บนพื้นผิวที่หลากหลายและนับจุดลักษณะสำคัญพิเศษได้ตั้งแต่ 10 จุดขึ้นไปตามเกณฑ์ของประเทศไทย ส่วนสารสูตร 1A 2A และ 3A ที่ไม่มีสารลดแรงตึงผิว ไม่สามารถตรวจลายนิ้วมือแฝงบนพื้นผิววัตถุทุกชนิด จากการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่า การใช้สารลดแรงตึงผิวร่วมกับผง Carbon black หรือผงสีฝุ่น ทำให้เกิดการติดของลายนิ้วมือแฝงบนวัตถุไม่มีรูพรุนและใช้ในการยืนยันตัวบุคคลได้