การพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์โซเชียลมีเดียโดยใช้โมเดลการเรียนรู้ของเครื่อง: กรณีศึกษาการจัดประเภทความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์ในเว็บไซต์แบ่งปันวิดีโอ
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
พิมพ์มาดา จิระวัธน์
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
พนา สาระยาม, อัครวุฒิ ตาคม
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
โครงงานนี้นำเสนอการพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์โซเชียลมีเดียบนพื้นฐานเทคโนโลยีด้านการเรียนรู้ของเครื่อง ในกรณีศึกษาเป็นการจัดประเภทความคิดเห็นเชิงวิพากษ์ในเว็บไซต์แบ่งปันวิดีโอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดการกระบวนการที่ซับซ้อนและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และมีขอบเขตของการจำแนกเป็นความคิดเห็นภาษาไทยจากช่องยูทูบประเภทการเล่าและสรุปเรื่อง ซึ่งโครงงานนี้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยเครื่องมือสนับสนุนสำหรับเชื่อมต่อแหล่งข้อมูล และกำกับข้อมูล โดยแบ่งข้อมูลออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ (1) ประเภทที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาเว็บไซต์ทั้งในด้านการให้คำแนะนำหรือการจัดการเนื้อเว็บไซต์ และ (2) ประเภทที่ไม่สามารถนำมาใช้ปรับปรุงเว็บไซต์ได้ เช่น การแสดงความเห็นเชิงวิจารณ์ด้วยความคิดเห็นส่วนบุคคล หลังจากนั้นจะทำการเตรียมข้อมูลเชิงเทคนิคการประมวลผลภาษาธรรมชาติ และจัดการข้อมูลที่ไม่สมดุลในระดับข้อมูลด้วยวิธีการสุ่มเพิ่ม แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ มาวิเคราะห์และสกัดคุณลักษณะข้อมูล เพื่อเตรียมแบบจำลองหน่วยความจำระยะสั้นระยะยาว จากนั้นประเมินประสิทธิภาพของแบบจำลอง ได้ผลการประเมิน คือ ค่าความแม่นยำ 93%, ค่าเฉลี่ยของ Precision เท่ากับ 0.88, Recall เท่ากับ 0.90 และ F1-Score เท่ากับ 0.89 และเส้นกราฟฟังก์ชันการสูญเสีย มีลักษณะเป็น Appropriated-fitting จึงสามารถสรุปได้ว่าแบบจำลองนี้สามารถจำแนกความคิดเห็นเชิงวิพากษ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ความแม่นยำในการจำแนกได้ในระดับที่ดี