การศึกษาหาปริมาณของสารแทนนินในแป้งกล้วยดิบ เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุให้ข้าวเน่าเสีย

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

กฤติญา ระงับพิษ, รัฐวุฒิ ศรีพล, ชนาธิป อาษารินทร์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

มัถชุรี ตุนชัยภูมิ, ชรินรัตน์ ภาณุวงศ์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนกัลยาณวัตร

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2562

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานเรื่อง การศึกษาหาปริมาณสารแทนนินในแป้งกล้วยดิบ เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุให้ข้าวเน่าเสีย ที่คณะผู้จัดทำได้จัดทำขึ้นมานั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและเลือกแป้งกล้วยดิบที่มีสารแทนนินปริมาณมากที่สุด และ 2) ศึกษาและเปรียบเทียบอัตราส่วนระหว่างแป้งกล้วยดิบที่มีปริมาณสารแทนนินมากที่สุดกับปริมาณข้าวที่เหมาะสมในการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุให้ข้าวเน่าเสีย ผลการทดลองพบว่า การทดลองตอนที่ 1 การวิเคราะห์ปริมาณสารแทนนินโดยวิธีการตกตะกอนโปรตีน ซึ่งมีการวิเคราะห์ในแป้งกล้วยน้ำว้าดิบ แป้งกล้วยหอมดิบและแป้งกล้วยไข่ดิบ ผลที่ได้ปรากฏว่าแป้งกล้วยน้ำว้าดิบมีปริมาณแทนนินมากที่สุด ทางผู้จัดทำจึงเลือกแป้งกล้วยน้ำว้าดิบมาศึกษาในการทดลองตอนที่ 2 พบว่า อัตราส่วนที่ดีที่สุดในการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุให้ข้าวเน่าเสีย คือ อัตราส่วนแป้งกล้วยน้ำว้าดิบ 3 ช้อนชาต่อปริมาณข้าวสารหอมมะลิ 1 ถ้วยตวง หลังจากหุงสุกข้าวหอมมะลิสามารถอยู่ได้นานที่สุด 5 วันโดยที่ข้าวไม่เน่าเสีย ดังนั้นจากการทดลองสรุปได้ว่า แป้งกล้วยน้ำว้าดิบมีผลต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุให้ข้าวเน่าเสียได้ ซึ่งจะสามารถนำแป้งกล้วยน้ำว้าดิบมาประยุกต์ใช้เป็นสารยืดอายุอาหารได้อีกในอนาคต เช่น การทำขนมอบที่ใช้แป้งกล้วยแทนแป้งสาลี เนื่องจากลักษณะของแป้งคล้ายกัน ซึ่งผู้จัดทำจะได้ทำการทดลองในครั้งต่อไป ว่าขนมอบจากแป้งกล้วยสามารถเก็บไว้ได้นานกว่าขนมอบจากแป้งสาลีหรือไม่