การวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบในแร่รัตนชาติโดยเทคนิคเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนซ์

ชื่อผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
  • ณัฏฐณิชา โพธิ์งาม

  • สมสกุล นึกชอบ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
  • รักชาติ ท่าโพธิ์

สถาบันการศึกษาที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ระดับการศึกษา

โครงงานวิทยาศาสตร์ในระดับการศึกษาปริญญาโทขึ้นไป

หมวดวิชา

โครงงานวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาฟิสิกส์

วันที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

01 มกราคม 2541

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสมบัติทางกายภาพของแร่รัตนชาติและวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบในแร่รัตนชาติโดยใช้เทคนิคเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนซ์ ตัวอย่าง แร่รัตนชาติที่นำมาทดลองมีจำนวน 7 ชนิด จากแหล่งจำหน่ายอัญมณีในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดศรีสะเกษ โดยทำการตรวจสอบสมบัติทางกายภาพเบื้องต้นของเม็ดแร่โดยสังเกตจากลักษณะ สี สีผงละเอียด ความโปร่งแสงและความแข็ง และวิเคราะห์หาธาตุองค์ประกอบโดยใช้เทคนิคเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนซ์แบบวัดความยาวคลื่นซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ผลการวิจัยพบว่า 1. แร่ที่มีปริมาณธาตุองค์ประกอบเป็นซิลิกอนมากที่สุด เป็นแร่รัตนชาติจำพวกควอร์ต จะมีสีของแร่และสีผงละเอียดต่างกันคือแร่ที่มีสีม่วงและสีชมพูจะมีสีผงละเอียดเป็นสีขาว ส่วนแร่ที่มีสีน้ำตาลใสจะมีสีผงละเอียดเป็นสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งแสงสามารถผ่านได้มากและมีความแข็งน้อยกว่าโทแพซและนิลตะโก 2. แร่ที่มีปริมาณธาตุองค์ประกอบเป็นธาตุอะลูมิเนียมและซิลิกอนมากที่สุดเป็นแร่รัตนชาติจำพวกโทแพซ สีของแร่และสีผงละเอียดจะมีสีเหมือนกันคือ สีขาว ซึ่งแสงผ่านได้น้อยและมีความแข็งเท่ากับนิลตะโกแต่แข็งกว่าควอร์ต 3. แร่รัตนชาติที่มีปริมาณของธาตุองค์ประกอบเป็นธาตุเหล็กมากที่สุด เป็นแร่รัตนชาติจำพวกนิลตะโก สีของแร่และสีผงละเอียดจะมีสีเหมือนกันคือ สีดำ และมีสภาพทึบแสง ซึ่งมีความแข็งเท่ากับโทแพซ