โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องเทคโนโลยีการเร่งความงอกของเมล็ดพันธุ์ไม้ผลบางชนิด

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การที่เมล็ดได้รับปัจจัยและมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการงอกทุกอย่างแต่ไม่งอก เกิดจากการที่เมล็ดนั้นพักตัว โครงงานเรื่องนี้ได้หาวิธีลดระยะการพักตัวของเมล็ดนอกจากเปลือกหรือส่วนที่ติดมากับเมล็ด โดยทำการทดลองดังนี้ เมล็ดที่มีขนาดใหญ่เปลือกหนา เช่น มะม่วงแก้ว ใช้วิธีตัดเปลือกชั้นในออกหมด, ตัดเฉพาะปลายเมล็ดด้านตรงข้ามด้านหัวของเอ็มบริโอและเพาะตามปกติเปรียบเทียบกันพบว่าเมล็ดในกลุ่มแรก คือ เมล็ดที่ตัดเปลือกหรือเปลือกผลชั้นในสุดออกหมดนั้นเมล็ดจะเริ่มงอกใน 2 วันแรกและงอกเป็นต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ทั้ง 30 เมล็ด ส่วนเมล็ดที่เพาะปกติใช้เวลา 2 สัปดาห์จึงเริ่มงอกและได้ต้นกล้าที่โค้งงอในบางต้น เมล็ดที่มีขนาดเล็กและมีส่วนที่ติดมากับเมล็ด ใช้เมล็ดมังคุด ลางสาด มะปริงและกระท้อนในการทดลอง โดยใช้สาร 4 ชนิดแช่เมล็ดเพื่อทำให้ส่วนดังกล่าวอ่อนตัวหรือหลุด คือ ไฮเตอร์ วิดซอล น้ำส้มสายชูเทียมมีกรดน้ำส้มร้อยละ 5 และสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์เข้มข้นร้อยละ 3 โดยมวล/ปริมาตร นำเมล็ดแช่ในสารดังกล่าวเป็นเวลา 30 นาที พบว่าสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์และไฮเตอร์ได้ผลใกล้เคียงกันและดีที่สุด จากนั้นแช่เมล็ดพันธุ์ทั้ง 4 ชนิดในสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์เข้มข้นร้อยละ 3 โดยมวล/ปริมาตร เป็นเวลา 30 นาทีก่อนนำไปเพาะ บันทึกผลความงอกพบว่าสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์เข้มข้นร้อยละ 3 มีผลต่อการเร่งความงอกของเมล็ดพันธุ์ไม้ผลทั้ง 4 ชนิด และที่มีความเด่นชัดมากที่สุดคือ เมล็ดมังคุด จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์มังคุดแช่ในไฮเตอร์เพื่อเปรียบเทียบกับสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์เข้มข้นร้อยละ 3 ก่อนนำไปเพาะพบว่าได้ผลใกล้เคียงกัน และในตอนท้ายของการทดลองได้หาความเข้มข้นที่เหมาะสมของสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่จะใช้แช่เมล็ดมังคุดเวลา 30 นาที ก่อนนำเพาะโดยใช้ความเข้มข้นตั้งแต่ร้อยละ 0.5 - 3 พบว่าความเข้มข้นของสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ตั้งแต่ร้อยละ 1 - 3 มีผลต่อการเร่งความงอกของเมล็ดพันธุ์มังคุดมากที่สุดและได้ต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ด้วย

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
  • กมลวรรณ บุญเจริญ และคณะ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสวีวิทยา

รางวัลการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์

ม.ปลาย ชนะการประกวดรางวัลที่ 3 การเกษตร ภาคใต้

การตีพิมพ์ผลงาน

วารสารบทคัดย่อการศึกษาวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี 2538 6(16) p72

ประเภทโครงงานวิทยาศาสตร์