โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพไข่ร้าวของสัตว์ปีกให้เป็นตัวด้วยกาวบางชนิด
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
พิทักษ์ แสงคำ
วิฑูรย์ เปาอินทร์
อดิศักดิ์ วิริยจารี
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
วินัย เกียรติอดิศร
สมเจตน์ นิลเนตร
ไพฑูรย์ น้อยสอน
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- รางวัลการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์
ม.ปลาย ชนะการประกวดรางวัลที่ 2 การเกษตร ภาคเหนือ
- การตีพิมพ์ผลงาน
วารสารบทคัดย่อการศึกษาวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี 2536 4(10) p80
- คำสำคัญ (keywords) ของโครงงาน
การฟักไข่ ไข่ร้าว
กาว ช่วยฟักไข่ร้าว
- ประเภทโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ไข่ของสัตว์ปีกที่ร้าวเกษตรกรไม่สามารถนำกลับมาฟักให้เป็นตัวได้อีก สาเหตุเพราะจุลินทรีย์เข้าทำลายและเกิดการสูญเสียน้ำภายในไข่ ดังนั้นถ้าไข่ร้าวเกิดกับไข่ของสัตว์ปีกที่หายากและมีจำนวนน้อยเช่น ไข่ไก่ฟ้า ไข่นกยูง ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายจึงหาวิธีทดลองแก้ไข โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 ออกแบบสร้างตู้ฟักให้มีประสิทธิภาพแล้วทดลองใช้ตู้ฟักไข่ไก่ 50 ฟอง เปรียบเทียบกับการฟักไข่โดยธรรมชาติจากแม่ไก่ 5 ตัว ผลการทดลองพบว่า ตู้ฟักไข่ที่สร้างขึ้นสามารถฟักไข่ให้เป็นตัวได้ถึงร้อยละ 94 ใช้เวลาฟักอยู่ในช่วง 21-22 วัน ซึ่งใกล้เคียงกับการฟักโดยแม่ไก่ซึ่งเป็นตัวร้อยละ 90 และใช้เวลาฟัก 22 วัน ตอนที่ 2 นำตู้ฟักไข่จากตอนที่ 1 มาทดลองฟักไข่ร้าวของไก่ เป็ด นกกระทา และนกยูงที่ทากาวชนิดต่าง ๆ วิธีการทดลองของสัตว์แต่ละชนิดแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มใช้ไข่สัตว์กลุ่มละ 20 ฟอง ยกเว้นไข่นกยูงใช้กลุ่มละ 5 ฟอง โดยกลุ่มที่ 1 เป็นตัวควบคุม ทดลองฟักไข่ปกติที่ไม่มีรอยร้าว กลุ่มที่ 2 กลุ่มไข่ร้าวที่ไม่ทากาว กลุ่มที่ 3 กลุ่มไข่ร้าวทากาวลาเท็กซ์ กลุ่มที่ 4 กลุ่มไข่ร้าวทากาวยาง กลุ่มที่ 5 กลุ่มไข่ร้าวทากาวซิลิโคน สัตว์แต่ละชนิดแต่ละกลุ่มศึกษาระยะเวลาที่ใช้ในการฟักจนเป็นตัว จำนวนลูกที่ฟักได้ และอัตราการรอดตายหลังการฟัก 5 วัน ผลการทดลองพบว่าระยะเวลาที่ใช้ในการฟักจนเป็นตัวของสัตว์แต่ละชนิดในแต่ละกลุ่มของการทดลองไม่แตกต่างกัน ไก่ใช้ระยะเวลาในการฟักจนเป็นตัว 21-22 วัน เป็ด 28-29 วัน นกกระทา 17-18 วัน และนกยูง 29-30 วัน นอกจากนั้น กลุ่มไข่ร้าวที่ทากาวลาเท็กซ์ของสัตว์ทุกชนิดที่ทดลองนั้นมีอัตราการฟักเป็นตัวสูงถึงร้อยละ 100 อัตราการรอดตายหลังฟักก็สูงถึงร้อยละ 100 เท่ากัน กลุ่มควบคุมในขณะที่กลุ่มไข่ร้าวที่ไม่ทากาวของสัตว์แต่ละชนิดฟักไม่เป็นตัว ส่วนกลุ่มไข่ร้าวที่ทากาวยางและทากาวซิลิโคนของสัตว์แต่ละชนิดนั้น มีอัตราการฟักเป็นตัวและอัตราการรอดตายหลังฟักต่ำมาก โดยเฉพาะกลุ่มไข่ร้าวที่ทากาวซิลิโคนจะต่ำกว่ากลุ่มไข่ร้าวที่ทากาวยาง