๒.๑ บทสรุป
จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า มีประเด็นในการอภิปรายผลการวิจัย ดังนี้
องค์ประกอบด้านการสนับสนุน เป็นตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินงานยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนระดับครัวเรือน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบพอเพียง โดยมีค่าความสัมพันธ์อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งสามารถอธิบายถึงปัญหาความยากจนระดับครัวเรือน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบพอเพียงได้ว่าองค์ประกอบด้านการสนับสนุนอยู่ในระดับสูงเท่าใดย่อมจะมีผลต่อการดำเนินยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความยากจนระดับครัวเรือน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบพอเพียงมากขึ้นเท่านั้น
องค์ประกอบทางด้านความพร้อม มีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความยากจนระดับครัวเรือน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบพอเพียง กล่าวคือ คณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนควรมีความพร้อมในด้านความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ คำนึงถึงทรัพยากรและมีการบริหารที่ดี เช่น ตั้งศูนย์ปฏิบัติการหมู่บ้าน กข.คจ. ออกเอกสารแบบพิมพ์และวัสดุอุปกรณ์ ที่อำนวยความสะดวกต่อการบริหารจัดการ
องค์ประกอบทางด้านการบริหารจัดการ มีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความยากจนระดับครัวเรือน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบพอเพียง ซึ่งหมายถึง การที่คณะกรรมการหมู่บ้านสามารถรับผิดชอบดูแลโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ) ในด้านการบริหารเงินทุน ควบคุมตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินโครงการ กข.คจ. ให้เกิดประโยชน์ และเป็นผลดีแก่ครัวเรือนยากจนตามเป้าหมายในแต่ละหมู่บ้านอย่างมีประสิทธิภาพ
องค์ประกอบด้านการมีส่วนร่วม ไม่มีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนระดับครัวเรือนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบพอเพียง ไม่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ อาจจะเนื่องด้วยเหตุผลที่คณะกรรมการเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานไม่เด่นชัด ซึ่งในทางปฏิบัติกรรมการมีการแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน จึงไม่แตกต่างกันในด้านความสัมพันธ์กับผลการดำเนินยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความยากจนระดับครัวเรือน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบพอเพียงในครั้งนี้