๘.๒ คำอธิบาย

เศรษฐกิจพอเพียงเชื่อมโยงกับความเป็นประชาสังคม ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียงและประชาสังคมจึงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมรัฐแห่งชาติ และเป็นเรื่องใหญ่หรือเป็นระเบียบวาระแห่งชาติเรื่องหนึ่ง เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้แปลว่าไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่ค้าขาย ไม่ส่งออก ไม่ผลิตเพื่อคนอื่น ไม่ทำเศรษฐกิจมหภาค สิ่งเหล่านี้หลายคนอาจคิดเอาเองพูดเอาเอง และกลัวไปทำนองนั้น ตัวอย่างเช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เป็นตัวอย่างของประเทศที่เคยยากลำบากและเสียสมดุลต่อเมื่อพัฒนาประเทศแบบเศรษฐกิจพอเพียงจึงกลับมาเข้มแข็งสมดุล และเติบโตไปได้ด้วยดี

เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึง ความพึงพอใจอย่างน้อย ๗ ประการด้วยกัน คือ

  • พอเพียงสำหรับทุกคนทุกครอบครัว ไม่ใช่เศรษฐกิจแบบทอดทิ้งกัน

  • จิตใจพอเพียง ทำให้รักและเอื้ออาทรคนอื่นได้ คนที่ไม่พอจะรักคนอื่นไม่เป็นและทำลายยากมาก

  • สิ่งแวดล้อมพอเพียง การอนุรักษ์และเพิ่มพูนทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ทำให้ยังชีพและทำมาหากินได้ เช่น การทำเกษตรผสมผสานซึ่งได้ทั้งอาหารสิ่งแวดล้อมและได้เงินด้วย

  • ชุมชนเข้มแข็งพอเพียง การรวมตัวกันเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง จะทำให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ เช่น ปัญหาสังคม ปัญหาความยากจน หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม

  • ปัญญาพอเพียง มีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติและการปรับตัวได้อย่างต่อเนื่อง

  • อยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมพอเพียง วัฒนธรรมควรสัมพันธ์และเติบโตขึ้นจากฐานทางวัฒนธรรมจึงจะมั่นคง เช่น เศรษฐกิจของจังหวัดตราด

  • ขณะนี้ไม่กระทบกระเทือนจากเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ไม่มีคนตกงาน เพราะอยู่บนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เอื้อต่อการทำสวนผลไม้ ทำการประมงและการท่องเที่ยว มีความมั่นคง พอเพียง ไม่ใช่วูบวาบ เดี๋ยวจน เดี๋ยวรวยกะทันหัน เดี๋ยวไม่มีกินไม่มีใช้ ถ้าเป็นเช่นนั้นมนุษย์อาจตกในภาวะที่ทนไม่ไหว จึงสุขภาพจิตเสีย เครียดรุนแรง ฆ่าตัวตาย เศรษฐกิจพอเพียงที่มั่นคงจะทำให้สุขภาพจิตดี

  • เมื่อทุกอย่างพอเพียงก็เกิดความสมดุล ความสมดุลคือความเป็นปกติและยั่งยืน ซึ่งอาจเรียกเศรษฐกิจพอเพียงในชื่ออื่น ๆ เช่นเศรษฐกิจพื้นฐาน เศรษฐกิจสมดุล เศรษฐกิจบูรณาการ เศรษฐกิจศีลธรรม