๑๐.๒ คำอธิบาย
ตามวิธีการศึกษาของผู้เขียน ผู้เขียนได้แบ่งตัวอย่างออกเป็น ๒ ระดับ
ระดับรัฐ (Government-level model) : ให้มีการกำหนดเงินสนับสนุน และนโยบายเกี่ยวกับระบบชลประทาน ทั้งระดับชุมชนและรายบุคคล เพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ
ระดับเกษตรกรรายบุคคล (Farm-level model): อธิบายวิธีที่เกษตรกรจะตอบสนองต่อนโยบายทางเลือกต่างๆ ที่กำหนดจากทางภาครัฐ การศึกษาในระดับนี้ จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณลักษณะสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ เชิงอุทกวิทยา เชิงเศรษฐศาสตร์ และเชิงเกษตรกรรม เพราะว่าการศึกษารูปแบบการตัดสินใจของเกษตรกรสามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างค่าตัวแปรของปริมาณน้ำเพื่อการเพาะปลูก ปริมาณผลผลิต และปริมาณรายได้ และเงินออมซึ่งท้ายที่สุดจะสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร อันเนื่องมาจากสาธารณูปโภค
ทั้งนี้ ผู้เขียนใช้ Deterministic nonlinear programming algorithm เพื่อหานโยบายที่เหมาะสม ในการใช้สวัสดิการสำหรับเกษตรกรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของจำนวนเงินสนับสนุนและพยายามจำกัดความไม่เท่าเทียมกัน การอพยพของคนในชนบทสู่เมืองและการรักษาสภาวะแวดล้อม ทั้งนี้ ผู้เขียนคำนวณโดยอาศัยตัวแปร ดังนี้
ราคาค่าน้ำ และจำนวนของพื้นที่เกษตรกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์จากชลประทานของรัฐ หรือแหล่งกักเก็บน้ำจากแม่น้ำ/ลำคลองที่อยู่ใกล้เคียง
ขนาดของสระน้ำเพื่อการเกษตร ที่รัฐบาลสามารถให้เงินสนับสนุนในการจัดสร้าง
จำนวนเงินสนับสนุนสำหรับเกษตรกรแต่ละราย
และสำหรับการหา "กระบวนการตัดสินใจของเกษตรกร" ผู้เขียนใช้วิธี A Finite-horizon Discrete-time Stochastic Programming Algorithm ซึ่งมีตัวแปรดังต่อไปนี้
ความเหมาะสมของการสร้างแหล่งน้ำ
ระดับการบริโภคของครัวเรือน
ทางเลือกในการประกอบอาชีพ (เปรียบเทียบระหว่างการทุ่มเทเวลาให้สำหรับการเพาะปลูกเพียงอย่างเดียว หรือ การทำงานในเมืองนอกฤดูเก็บเกี่ยว)
ชนิดของพันธุ์พืช และเทคนิคในการชลประทาน
ปริมาณน้ำ ที่จะซื้อจากแหล่งเก็บกักน้ำของชุมชน
ผู้เขียนได้ทดลองและศึกษากลยุทธ์ตัวอย่างที่พัฒนาขึ้นมาบนพื้นที่ในเขตจังหวัดสระบุรีที่กำลังปฏิบัติ "เกษตรทฤษฎีใหม่" อันเป็นแนวปฏิบัติ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดการเพาะปลูกที่ยั่งยืน โดยพื้นที่ที่ทำการทดลองนี้ ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีความเหมาะสม เพราะมีระบบตลาดที่ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดี และเกษตรกรมีเอกสิทธิ์ในพื้นที่เพาะปลูกของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่ศูนย์การศึกษา ยังคงประสบปัญหาเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ
ผู้เขียนสรุปว่า เพื่อให้ได้ผลทางเศรษฐกิจเป็นที่น่าพอใจที่สุด รัฐบาลควรจะสร้างแหล่งน้ำให้แก่เกษตรกรบางราย โดยที่เกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ในขณะที่สำหรับเกษตรกรคนอื่นๆ ควรได้รับเงินช่วยเหลือในการจัดสร้างแหล่งน้ำด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่ได้รับเพียงเงินช่วยเหลือจากภาครัฐก็ยังคงแสวงหางานทำเพิ่มเติมในเมืองในช่วงฤดูแล้ง ดังนั้น ถึงแม้ว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะสามารถก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภคอย่างคุ้มค่า แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน
ดังนั้น ถ้าหากจะสร้างความเท่าเทียมกัน รัฐบาลควรสร้างแหล่งเก็บน้ำ และขายน้ำที่กักเก็บไว้ให้แก่เกษตรกรทุกคนในราคาเดียวที่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวก็ไม่สามารถป้องกันการหลั่งไหลของคนในชนบทสู่เมืองนอกฤดูทำการเพาะปลูก
เพื่อแก้ไขการอพยพสู่เมืองเพื่อหางานทำนอกฤดูทำการเพาะปลูก รัฐควรจัดสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่สำหรับเกษตรกรบางรายและจัดสรรน้ำในราคาที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมกันจะยังคงมีอยู่ และถึงแม้ว่าวิธีการดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลดีทางสังคม แต่ก็ไม่สามารถทำให้เกษตรกรใช้สาธารณูปโภคที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด
ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า สามารถก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม และในทางปฏิบัติรัฐบาลเผชิญอยู่กับการชั่งใจระหว่างผลทางเศรษฐกิจและเป้าหมายทางสังคม