โมโหไม่หมูลัง ชังกั้งไม่เพื่อน
โมโหไม่หมูลัง ชังกั้งไม่เพื่อน เป็นสำนวนชาวใต้ที่เตือนสติและสอนให้ ดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างอบอุ่นใจ
โมโหไม่หมูลัง หมายถึงผู้ใดเมื่อโมโหหรือมีความโกรธแล้ว ผู้นั้น ย่อมไม่มีกำลัง คำว่า ไม่ ชาวใต้ออกเสียงยาวว่า [หม้าย] เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง ไม่มี
คำถัดมา หมูลัง คำนี้มาจากคำว่า กำลัง ภาษาถิ่นใต้ขึ้นต้นด้วยสระอำ ย่อมมีเสียง ม ตามเสมอ ดังเช่น กำลัง คำว่า กำ มีเสียง ม ตาม ตัว ม ที่ตามนี้ประสมกับคำสุดท้าย คือ ลัง และออกเสียงควบกล้ำ เป็น มุลัง ชาวใต้นิยมเสียงสูงก็เพิ่ม ห เข้าไป เลยออกเสียงเป็น หมูลัง ส่วนคำหน้า คือ กำ ก็ตัดออกไป จึงคงเหลือแต่ หมูลัง ตัวอย่างอื่น ๆ เช่น สำรับ เป็น หมูรับ สำโรง (ชื่อต้นไม้) เป็น โหมรง กำไร เป็น ไหมร ล้วนออกเสียง ห-ม-ร ควบกัน
ถัดมาคือ ชังกั้งไม่เพื่อน คำว่า ชังกั้ง เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า เกกมะเหรก, ทะลึ่งตึงตัง, ขวางหูขวางตา ถ้าเป็นคำนาม หมายถึงคนที่มีนิสัยเช่นนั้น คำถิ่นใต้มีความหมายใกล้เคียงคำว่า ชังกั้ง อีกหลายคำ เช่น คำว่า กางหลาง กายหลาย มัดกะ ช็องด็อง จันหวัน บ้าหวัน
คนชังกั้งไม่เพื่อน เมื่อเกิดอันตรายย่อมขาดเพื่อนที่จะคอยช่วยเหลือ กรณีเพื่อนไม่คบค้าสมาคมด้วย เพราะเอาแต่ใจตนเอง มองผู้อื่นด้อยกว่าตน และมองผู้อื่นเป็นศัตรู ที่สำคัญคือคนชังกั้งมักทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนอยู่เสมอ ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้เรื่องพระรถเมรีหรือเรื่องนางสิบสอง ตอนสุดท้ายของเรื่อง กล่าวถึงตายายซึ่งเป็นพ่อแม่ของนางสิบสอง ทั้งสอง ตกระกำลำบากจากผลกรรม เมื่อนางสิบสองมีความสุขก็นำทหารมาพบพ่อแม่ ยายเห็นทหารก็ตกใจและบอกตาให้อยู่แต่ในบ้าน คำกาพย์บรรยายไว้ว่า
สำนวน โมโหไม่หมูลัง ชังกั้งไม่เพื่อน เป็นสำนวนไม่ล้าสมัย ยังมีคุณค่า และมีประโยชน์แก่ผู้นำไปยึดถือและปฏิบัติ
(รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์)