เมืองลุงมีดอน เมืองคอนมีท่า เมืองตรังมีนา สงขลามีบ่อ

สำนวนเกี่ยวกับชื่อบ้านนามเมืองภาคใต้ข้างต้นนี้ เป็นการบอกลักษณะ ภูมิศาสตร์ท้องถิ่นได้อย่างดี ปัจจุบันย่อมเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ไปตาม กาลเวลา แต่สำนวนยังคงบอกเล่าให้ทราบภูมิหลังสมัยนั้นอยู่เสมอ

จากสำนวนข้างต้นเล่าถึงสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน คือ ตัวเมือง พัทลุงตั้งอยู่ในที่ดอน มีภูเขารายรอบ เช่น ภูเขาอกทะลุเป็นสัญลักษณ์ของ จังหวัดนี้ คำว่า ดอน หมายถึง ที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง นอกจากนี้ยังมีคำว่า ควน มาจากคำมลายูว่า guar หมายถึง เนินหรือโคก ตัวอย่างชื่อหมู่บ้านในพัทลุง ขึ้นต้นด้วยคำว่า ดอน เช่น ดอนหลา หรือ ดอนศาลา ดอนเด็ด ดอนคัน ซึ่ง เป็นชื่อต้นไม้ รวมทั้ง ดอนทราย และขึ้นต้นด้วยคำว่า ควน เช่น ควนขนุน ควนมะพร้าว ควนถบ ควนสาร

จังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่ริมทะเลมีท่าเรือหลายแห่ง ชื่อหมู่บ้าน มักมีคำว่า ท่า นำหน้า เช่น ท่าศาลา ท่าแพ ท่าโพธิ์ ท่าวัง ท่าม้า ท่าซัก ท่าลาด ท่าสูง

จังหวัดตรังมีการทำนามาก่อนทำสวนยางพารา ชื่อหมู่บ้านมักมีคำว่า นา นำหน้า เช่น นาโยง นาท่าม นาปด นาข้าวเสีย นาโต๊ะหมิง นาตาล่วง นาทุ่งนุ้ย

จังหวัดสงขลาอยู่ริมทะเลสาบ จำเป็นต้องขุดบ่อน้ำจืดใช้ดื่มกิน ชื่อหมู่บ้าน มักมีคำว่า บ่อ นำหน้า เช่น บ่อทรัพย์ บ่อยาง บ่อเตย บ่อโด บ่อโตระ

ชื่อบ้านนามเมืองดังกล่าวนอกจากบอกลักษณะภูมิศาสตร์แล้ว ยังบอก ถึงลักษณะพื้นที่ เช่น ท่าลาด ท่าสูง บอกถึงพรรณไม้ เช่น บ่อยาง บ่อโด (ต้นประดู่) นาปด (ต้นรสสุคนธ์) บอกถึงบริเวณนั้นมีสิ่งน่าสนใจ เช่น ท่าแพ ท่าโพธิ์ (เป็นที่ต้อนรับต้นโพธิ์นำมาจากลังกา) ท่าศาลา ท่าวัง ท่าม้า (สมัยนั้น นครศรีธรรมราชมีรถม้าเป็นพาหนะ) บอกชื่อคนรุ่นบุกเบิก เช่น นาโต๊ะหมิง (ชื่อมุสลิม) นาตาล่วง รวมทั้งบอกที่มาจากนิทานที่นิยมเล่าในหมู่บ้าน เช่น ควนถบ ซึ่งมาจากคำว่า สินธพ ที่หมายถึง ม้า คือม้าที่เป็นพี่เลี้ยงของพระรถเสน ในนิทานเรื่องพระรถเสนหรือนางสิบสอง ควนสาร หมายถึงพระฤๅษี แปลงสารเพื่อช่วยพระรถเสน

ชื่อบ้านนามเมืองยังมีอีกมากมาย แต่ละชื่อล้วนน่าศึกษาค้นคว้าอย่างยิ่ง

(รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์)