แถกเหมือนโลกคลัก

คนและสัตว์มีธรรมชาติที่เหมือนกันคือ การดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด ภาษาถิ่นใต้เรียกว่า แถก แปลว่า ดิ้นกระเสือกกระสน เช่น ตีให้แถกอยู่นั้น แปลว่า ตีให้ดิ้นอยู่อย่างนั้น คำว่า แถก สามารถใช้ร่วมกับคำอื่น ๆ ทำให้มี ความหมายต่างออกไปอีก เช่น แถกเด แปลว่า ว่ายน้ำแบบตีกรรเชียงแต่ ไม่ใช้มือ ถ้าเป็นคำวิเศษณ์หมายถึงดิ้นพราด ๆ เช่น นายแดงถูกตีแถกเด อยู่บนหนน แปลว่า นายแดงถูกตีดิ้นพราด ๆ อยู่บนถนน

คำว่า คลัก ภาษาถิ่นภาคใต้ เป็นคำนาม แปลว่า พื้นดินที่สัตว์คุ้ยเขี่ย หรือนอนเกลือกกลิ้งจนกลายเป็นหลุม เป็นแอ่ง บางท้องถิ่นเรียก ปลัก เช่น คลักควาย หมายถึงหนองหรือแอ่งที่ควายนอนกลิ้งเกลือกไปมา ถ้าเป็นคำกริยา หมายถึงเกลือกกลิ้ง เช่น ตัวสักโคลกอย่ามาคลักบนที่นอน แปลว่า ตัวสกปรก อย่ามานอนกลิ้งบนที่นอน ถ้าซ้อนคำว่า คลัก ๆ เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า มาก ยั้วเยี้ย เช่น เท่ถานีรถไฟยังคนคลัก ๆ แปลว่า ที่สถานีรถไฟมีคนมาก

เมื่อผสมคำเป็น โลกคลัก หรือ ลูกคลัก ภาษาถิ่นใต้เป็นคำนาม หมายถึง ปลาเล็ก ๆ หลายชนิดที่อยู่รวมกันอยู่ในแอ่ง หลุม หนอง บึง และพบได้มาก ใน คลัก คือ ปลักที่น้ำแห้งขอด ปลาแต่ละตัวต่างก็ดิ้นรนแย่งน้ำกันเพื่อความ อยู่รอด

ฉะนั้น สำนวน แถกเหมือนโลกคลัก จึงเป็นสำนวนเรียกบุคคลที่กำลัง ดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอดหรือเพื่อเอาชีวิตรอดจากภัยพิบัติต่าง ๆ เหมือน ปลาตัวเล็ก ๆ ที่กำลังดิ้นรนเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อเอาตัวรอดก่อนที่น้ำในหลุม ในแอ่งจะแห้งหมด

สำนวนนี้มักใช้กับบุคคลผู้มีความผิดหรือบกพร่องต่อหน้าที่จนถูกตั้ง กรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือทางคดีอาญาที่วิ่งเต้นเข้าไปขอ ความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพื่อให้ตัวเองพ้นผิดว่า แถกเหมือนโลกคลัก ปัจจุบัน ควายเหล็กได้เข้ามาแย่งหน้าที่ไถนาไปจากควายจริงจน เกือบหมด ข้อสำคัญ ควายเหล็กมีความขยัน อดทน ไม่ยอมหยุดพักเหนื่อย ไม่ลงมานอนกลิ้งให้พื้นดินเป็นปลักเป็นแอ่ง เมื่อไม่มี ปลัก หรือ โลกคลัก ก็ไม่มีสำนวนว่า แถกเหมือนโลกคลัก และหายไปพร้อมกับ แกงคั่วโลกคลัก อาหารรสเลิศของชาวใต้ก็คงเหลือไว้แต่เพียงชื่อ ดังบทกลอนที่ว่า

หลบถึงเรินเดินเรื่อยพี่เนือยข้าวถามน้องสาวยังไหรให้กินมั่ง
คั่วโลกคลักหรือว่าเจี้ยนปลาลังสุกแล้วยังคนดีพี่เนือยจัง

คำว่า หลบ แปลว่า กลับ เริน คือ เรือน เนือย แปลว่า หิว เจี้ยน แปลว่า ทอด ปลาลัง คือ ปลาทู

(นายชะเอม แก้วคล้าย)