แคระหม้อยา
แคระหม้อยา หมายถึง นำหม้อยาติดตัวไปด้วย เป็นสำนวนถิ่นใต้มี ความหมายเปรียบเทียบว่ากำลังมีปัญหาหนัก ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ ยากที่จะ แก้ไข สำนวนนี้ประกอบด้วย คำว่า แคระ และ หม้อยา
คำว่า แคระ ภาษาถิ่นใต้ตรงกับภาษาไทยกรุงเทพว่า สะพายหรือ กระเดียด เช่น แคระกระเป๋า แปลว่า สะพายกระเป๋า
คำว่า หม้อยา หมายถึง ภาชนะที่ส่วนใหญ่ทำด้วยดินเผาสำหรับต้มยา สมุนไพร
ในท้องถิ่นภาคใต้ ผู้มีความรู้เรื่องสมุนไพรและการรักษาคนไข้อาจจะเป็น พระภิกษุหรือฆราวาส ถ้าเป็นฆราวาสมักจะเรียกว่า หมอ เช่น หมอแดง หมอจันทร์ เมื่อมีผู้ป่วยไปหาหมอ หมอจะเจียดยาหรือจัดสมุนไพรซึ่ง ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ของพืชและสิ่งอื่น ๆ ให้ถูกกับโรคของผู้ป่วย นำไป ต้มกินที่บ้าน หรือบางรายหมออาจจะรับไว้ให้อยู่รักษาตัวที่บ้านหมอก็ได้ สมุนไพรที่หมอจัดให้เรียกว่า เครื่องยา หม้อที่ใส่เครื่องยาเรียกว่า หม้อยา และยาที่หมอจัดให้นั้นเรียกว่า ยาหม้อ
การกินยาหม้อต้องกินตามจำนวนและเวลาตามที่หมอสั่ง เช่น กินเช้า เย็น ก่อนหรือหลังอาหาร แต่ผู้ป่วยบางรายมีอาการหนักมากต้องกินยาอยู่เสมอ เมื่ออาการไข้กำเริบ เวลาไปไหนมาไหนต้องนำหม้อยาติดตัวไปด้วยเพื่อจะได้ กินยาตามเวลา วิธีที่จะนำหม้อยาติดตัวไปได้สะดวกคือการแคระ โดยใช้ผ้าหรือ เชือกผูกกับหม้อยาแล้วสะพายไป เรียกกิริยาเช่นนั้นว่า แคระหม้อยา จึง เปรียบเทียบผู้ที่กำลังตกอยู่ในความลำบาก ยากแก่การแก้ไข เหมือนคนป่วย หนักที่ต้องคอยกินยาอยู่เสมอจนต้องแคระหม้อยาติดตัวไปด้วยทุกที่ เช่น พี่บ่าวดำเอาที่ดินไปเข้าธนาคารทำนากุ้ง ขาดทุน ๒ ทีแล้ว ไม่ได้ส่งทั้งต้น ทั้งดอกเขายึดที่ แคระหม้อยาเสียแล้วพี่บ่าวเหอ แปลว่า พี่ดำเอาที่ดินไป จำนองธนาคารเพื่อเอาเงินมาลงทุนทำนากุ้ง ขาดทุน ๒ ครั้งแล้ว ไม่ได้ส่งทั้ง เงินต้นทั้งดอกเบี้ย จนเขา (ธนาคาร) จะยึดที่ อาการหนักเสียแล้วพี่ชายเอ๋ย
ปัจจุบัน สำนวน แคระหม้อยา ที่หมายถึงนำหม้อยาติดตัวไปด้วยก็ยัง มีใช้ในเชิงประชดประชันหรือล้อเลียนผู้ที่ต้องพกยาเป็นจำนวนมาก แม้ว่า อาการของคนป่วยหนักจนต้อง แคระหม้อยา คงจะไม่ค่อยมีให้เห็น เพราะการ รักษาโรคแผนใหม่แพร่หลายมากแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยบางโรค เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดลม ต้องพ่นยาเข้าปากหรืออมยาใต้ลิ้นเมื่ออาการโรคกำเริบ ซึ่งพอเปรียบเทียบได้กับการ แคระหม้อยา แม้ยาสมัยใหม่พกพาได้สะดวก ไม่ต้องใส่หม้อยา และไม่ต้องแคระเหมือนแต่ก่อน
(นายธีระ แก้วประจันทร์)