เสือกไม่เข้าท่า

เสือกไม่เข้าท่า หมายถึงเข้าไปยุ่งในเรื่องของคนอื่นหรือเรื่องที่มิใช่ หน้าที่ของตน เป็นสำนวนที่เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตของคนใต้สมัยโบราณที่มี บ้านเรือนอาศัยอยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำลำคลอง การคมนาคมที่สะดวกคือ ทางเรือ การค้าขายก็ต้องใช้เรือ มีทั้งเรือแจว เรือพาย และเรือยนต์ ฉะนั้น ทุกบ้าน ตามชายฝั่งแม่น้ำลำคลอง จะมีบันไดหรือสะพานไม้ทอดลงสู่แม่น้ำลำคลอง เพื่อใช้เป็นท่าเรือสำหรับจอดรับส่งผู้โดยสารหรือขายสินค้า แต่ริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลองมักมีจอกแหนจำนวนมาก จึงทำให้เรือเข้าจอดที่ท่าได้ยาก ประกอบกับ เวลาน้ำขึ้นหรือน้ำลงมีกระแสน้ำเชี่ยว การบังคับเพื่อไสหรือเสือกหัวเรือให้ เข้าจอดตรงท่าที่ต้องการทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะกระแสน้ำจะพัดพาเรือให้ไหล ไปจอดที่ท่าอื่น ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า เสือกไม่เข้าท่า คือ ไสหรือเสือก หัวเรือเข้าไม่ตรงท่าที่ต้องการจอด

ชาวใต้มักใช้สำนวนนี้พูดตำหนิเด็กหรือบุคคลผู้ไม่ทำงานในหน้าที่ของตน แต่ไปทำงานอันเป็นหน้าที่ของบุคคลอื่น จนผิดพลาดเกิดความเสียหายขึ้น ทั้ง ๆ ที่เจ้าของงานไม่ได้ขอความช่วยเหลือให้ทำ ตรงกับคำในภาษาไทยกรุงเทพฯ ว่า สาระแน ซึ่งหมายถึง แส่หาเรื่อง ชอบเข้าไปยุ่งเกี่ยวในงานของบุคคลอื่น

คำว่า ไม่เข้าท่า ยังใช้เป็นสำนวนแสดงถึงความระแวงสงสัยไม่แน่ใจ ได้อีกด้วย เช่น บรรยากาศแบบนี้ ดูจะไม่เข้าท่า หมายถึงเกิดความสงสัย ไม่ไว้ใจบรรยากาศโดยรอบว่าจะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ อาจเกิดอุปสรรค อะไรก็ได้ ซึ่งตรงกับสำนวน ผิดท่า

ฉะนั้น สำนวนว่า เสือกไม่เข้าท่า ไม่เข้าท่า และ ผิดท่า เกิดขึ้นจาก วิถีชีวิตท้องถิ่นริมแม่น้ำลำคลองของคนใต้ที่ไม่สามารถไสหรือเสือกหัวเรือ ให้ตรงท่าจอดที่ต้องการได้

ปัจจุบันสำนวน เสือกไม่เข้าท่า มีความหมายเปลี่ยนไปในเชิงลบ ใช้เป็นคำตำหนิบุคคลที่เข้าไปแส่เรื่องของผู้อื่น โดยที่เจ้าของเรื่องไม่ได้ขอร้อง

(นายชะเอม แก้วคล้าย)