หน้าเหมือนเหล็กขูด

คำว่า เหล็กขูด เป็นคำนามภาษาถิ่นใต้ หมายถึงอุปกรณ์ขูดมะพร้าว อย่างหนึ่ง ซึ่งตรงกับภาษาไทยกรุงเทพว่า กระต่ายขูดมะพร้าว ใช้ขูดมะพร้าว ผ่าซีกที่ยังไม่กะเทาะออกจากกะลา ตัวท่อนไม้ที่ใช้นั่งขูดมะพร้าว มักทำเป็น รูปกระต่าย และมีแผ่นเหล็กแบนที่ใช้ตะไปถูให้เป็นซี่ฟันยาวเหมือนฟันกระต่าย เสียบติดที่หัวของตัวท่อนไม้

นอกจากนี้ชาวใต้ยังได้ทำตัวท่อนไม้นั่งขูดมะพร้าวเป็นรูปต่าง ๆ เช่น แมว สุนัข ม้า เสือ สิงห์ เต่า รูปคนหมอบ จึงเรียกชื่อตามลักษณะเหล็กที่ ใช้งาน คือเหล็กสำหรับขูดมะพร้าว ซึ่งเสียบติดในลักษณะหน้างอ คว่ำลง อยู่ที่หัวของตัวท่อนไม้ว่า เหล็กขูด ดังคำกลอนที่ว่า

ต้นไม้น้อยค่อยแต่งดัดแปลงใหม่นำเหล็กใส่ต่อท้ายปลายเหินหาว
ปลายหางชี้ขาตั้งตรงหลังยาวขูดมะพร้าวทุกที่ยามมีงาน

สมัยก่อนเมื่อมีงานต่าง ๆ เช่น งานบวช งานสมรส จะต้องใช้เหล็กขูด หลายตัว เพื่อนบ้านและญาติชายหญิงที่มาช่วยงาน โดยเฉพาะหญิงสาว จะทำ หน้าที่ขูดมะพร้าวอย่างชำนาญ หนุ่มที่ประสงค์จะใกล้ชิดกับสาว ก็เข้าไปช่วยขูด มะพร้าว เพื่อถือโอกาสทำความรู้จักได้อีกช่องทางหนึ่ง จึงเรียกว่า ช่องทาง พบรักกันบนหลังเหล็กขูด ดังเพลงลูกทุ่งเพลงหนึ่งที่ว่า

เหล็กขูดมีกันทุกบ้าน เวลามีงานเสียงดังครูด ๆ เหล็กขูดมันพูดไม่ได้
ถ้ามันพูดได้มันคงจะพูด ว่าไอ้เฒ่านี้กับอีเฒ่านั้น มันนั่งจีบกัน
บนหลังเหล็กขูด

จากลักษณะเหล็กขูดที่มีฟันยื่น หน้างอคว่ำลงนี้เอง จึงเป็นที่มาของสำนวน ภาษาถิ่นใต้ในเชิงตำหนิเปรียบเทียบบุคคลที่มีอารมณ์เสีย แสดงอาการไม่พอใจ หรือโกรธจนทำหน้าบูดบึ้ง หน้างอว่า หน้าเหมือนเหล็กขูด ซึ่งมีความหมาย เช่นเดียวกันกับสำนวนว่า ทำหน้าเหมือนหวัก คือ ทำหน้างอหน้าคว่ำเหมือนจวัก คำว่า หวัก ตรงกับคำว่า จวัก ในภาษาไทยกรุงเทพ สำนวน หน้าเหมือน เหล็กขูด ตรงกับสำนวนไทยภาคกลางว่า หน้างอเหมือนม้าหมากรุก ปัจจุบันบ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีอุปกรณ์ไฟฟ้า มาทำหน้าที่ขูดมะพร้าวแทนเหล็กขูด เหล็กขูดถูกไล่ต้อนให้ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ จึงไม่มีช่องทางที่จะพบรักกันบนหลังเหล็กขูดอีกแล้ว เสียดายจัง

(นายชะเอม แก้วคล้าย)