หรอยถึงหวัน-หรอยปากยากรูขี้

ในภาษาถิ่นใต้ คำว่า หรอย มีใช้กันอย่างกว้างขวาง เป็นคำเดียวกับคำว่า อร่อย ในภาษาไทยกรุงเทพ นั่นเอง คำนี้เมื่อใช้ประกอบกับคำอื่น ความก็ จะขยายตามคำที่มาประกอบนั้น ดังเช่น หรอยจังหู แปลว่า อร่อยมาก, สนุกมาก ปัจจุบันคำนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปในทุกภาค หรอยใจ แปลว่า อร่อยถึงใจ,

สะใจ บางครั้งก็ใช้เป็นคำเย้ยหยัน มีความหมายคล้ายกับคำว่า สมน้ำหน้า หรอยแรง แปลว่า แปลกจริง พิลึกจริง มักใช้ในความหมายเชิงถากถาง หรอยอี้ตาย หรอยตาย แปลว่า อร่อยเกือบตาย อร่อยมากจนเกือบตาย เป็นสำนวนที่แสดงถึงการยืนยันหรือไม่ก็ประชด

ในบรรดาสำนวนดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกสำนวนหนึ่งที่นิยมใช้กันมากใน หมู่คนที่พูดภาษาถิ่นนั้นคือ หรอยถึงหวัน แปลว่า อร่อยมากหรือสนุกมาก คือ อร่อยหรือสนุกไปจนถึงสวรรค์ อร่อยหรือสนุกจนเห็นสวรรค์ทำนองนั้น นับเป็นสำนวนที่เพิ่มสีสันจินตนาการได้เป็นอย่างดีทีเดียว

อันที่จริงความอร่อยของคนเรานั้นว่าไปแล้วก็ต้องมีขอบเขตเหมือนกัน เพราะตั้งแต่ หรอยจังหู กระทั่ง หรอยถึงหวัน หากเพลิดเพลินตามใจปาก มากเกินไปก็จะเกิดโทษกับผู้ที่ หรอย อย่างไม่บันยะบันยังนั้นได้ จึงทำให้เกิด สำนวนที่เนื่องมาจากคำว่า หรอย นี้ อีกสำนวนหนึ่ง คือ หรอยปากยากรูขี้ นั่นคือ ความอร่อยนั้นอยู่กับปาก แต่ความอร่อยที่ปากหากมากเกินขีดจำกัด เกินความพอดี ปัญหาหรือความยุ่งยากก็จะเกิดขึ้นกับระบบอื่น ตั้งแต่กระเพาะ อาหารกระทั่งสุดท้ายความยากความเจ็บทรมานก็จะไปเกิดกับรูขี้ คือ ทวารหนัก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำนวนนี้ยังมีที่ใช้ต่างกันออกไปตามบุคคล ท้องถิ่น และ สถานการณ์อีก คือ หรอยแต่ปาก ยากถึงวาน และ ตามใจปาก ยากถึงวาน แต่จะสำนวนใดก็มีความหมายและจุดมุ่งหมายเดียวกัน นับเป็นสำนวนที่แสดง อัตลักษณ์ของความเป็นคนปักษ์ใต้ที่โดดเด่นด้วยภาษาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ และยังคงความเป็นจริงตลอดมาตราบเท่าจนทุกวันนี้

(ผศ.สนิท บุญฤทธิ์)