หรอยบอกเขากัน-กินจนสิ้นยัง

ชาวใต้บ้านเราเมื่อกินอะไรอร่อย เราก็มักจะได้ยินได้ฟังคำพูดในรูป ของสำนวนที่แสดงความรู้สึกออกมาจากปากคำของคนกินนั้นว่า หรอยบอก เขากัน

หรอย คือ อร่อย

กัน แปลว่า ด้วย

หรอยบอกเขากัน แปลว่า อร่อย (จนต้อง) บอกเขา ให้รู้แล้วมากินด้วย ดังเช่น วันนี้แกงหอยขม หรอยบอกเขากัน แปลว่า วันนี้แกงหอยขม อร่อย บอกเขาด้วย หรอยบอกเขากัน น้ำชุบป้าแดงเรานะ แปลว่า อร่อยบอกเขาด้วย น้ำพริกของป้าแดงเรานะ แสดงว่าชาวใต้เมื่อกินอะไรอร่อยแล้ว มักจะนึกถึง คนอื่น นึกถึงพ่อแม่พี่น้อง นึกถึงเพื่อน เป็นการแสดงถึงความเป็นคนมีน้ำใจ ไมตรีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่อุบหรือหวงไว้กินคนเดียว ซึ่งต่างจากสำนวนที่เคย ได้ยินมาที่ว่า อร่อยอย่าบอกใครเชียว ที่หมายถึงอร่อยมาก

วัฒนธรรมการต้อนรับแขกผู้มาเรือนชานแบบประเพณีไทยแท้แต่โบราณ ที่ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับนั้นมีอยู่ทุกภาคของประเทศ ทั้งเลี้ยงดูและ ปูเสื่อ คือ ทั้งให้กินและให้นอนแบบตามมีและตามเกิด ให้เพลิดเพลินกายา กว่าจะกลับ นั่นคือการต้อนรับด้วยอาหารการกิน โดยทั่วไปจึงมักเรียกว่า เลี้ยง หรือ เลี้ยงดู และไม่เฉพาะแก่ผู้ที่มาเรือนชานเท่านั้น แม้พบกันที่อื่นก็มี การเลี้ยงหรือเลี้ยงดูแบบนี้เหมือนกัน

วัฒนธรรมการเลี้ยงดูของชาวใต้เมื่อก่อนเขาเปิดใจเลี้ยงดูกัน เจ้าของบ้าน คนใดฐานะดี ร่ำรวย แขกกินเท่าไรก็ไม่รู้จักหมด ส่วนเจ้าบ้านที่ฐานะพอมีพอกิน หรือยากจนแร้นแค้น แต่มากด้วยน้ำใจ อยากให้ผู้มาเยือนได้อิ่มหนำสำราญ

ก็สามารถที่จะเลี้ยงดูแขกจนถึงที่สุดได้เหมือนกัน คือ เลี้ยงจนหมดเท่าที่มีอยู่ โดยการพูดกับแขกด้วยสำนวนที่ว่า กินจนสิ้นยัง คือ กินให้หมดเท่าที่มี หรือ มีเท่าไรกินให้หมด ทำนองนั้น

นี่คือแก่นลึกความโอบเอื้ออาทรทางวัฒนธรรมการคบเพื่อนของคนใต้ ซึ่งแฝงฝังอยู่แม้แต่ในวัฒนธรรมของการกิน

(ผศ.สนิท บุญฤทธิ์)