สงขลาหอน นครหมา-สงขลายอน นครปลิ้น
นับถอยจากวันนี้ขึ้นไปสัก ๕๐ ปี ใครที่เป็นคนสงขลาไปอยู่นครศรี- ธรรมราช หรือใครที่เป็นคนนครศรีธรรมราชมาอยู่สงขลา ก็คงจะเคยได้ยิน ได้ฟังคำล้อเลียนต่อไปนี้อยู่บ่อย ๆ นั่นคือ
สงขลาหอน นครหมา กับอีกคำคือ สงขลายอน นครปลิ้น
คงไม่ได้ยินเฉพาะคนในสงขลากับนครศรีธรรมราชเท่านั้น แต่คงดังไป ทั่วทั้งปักษ์ใต้บ้านเรา ดีไม่ดีอาจขึ้นไปถึงกรุงเทพฯ อีกด้วย
สงขลากับนครศรีธรรมราชนั้น ว่าไปแล้วศักดิ์ศรีความเป็นเมืองก็ เกือบจะพอ ๆ กัน นครศรีธรรมราชเป็นเมืองเก่า เมืองพระ เมืองการศึกษา ขณะที่สงขลาเป็นเมืองท่า เมืองธุรกิจ เศรษฐกิจ เมืองที่ตั้งที่ว่าการมณฑล จึงเกิดการกระแนะกระแหนกันขึ้น ใครกระแนะกระแหนใครหรือใครเริ่มก่อน นั้นไม่รู้ รู้แต่ว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการกระแนะกระแหนกันก็คือ ลักษณะ เฉพาะตัวของคนแต่ละเมือง นั่นเอง
คนสงขลาชอบพูดคำว่า หอน ในความหมายปฏิเสธ เช่น คำว่า ไม่หอนพบ แปลว่า ไม่เคยพบ ไม่หอนกิน แปลว่า ไม่เคยกิน หรือในความหมาย ที่เป็นคำถาม เช่น คำว่า หอนพบเหอ แปลว่า เคยพบหรือ หอนกินเหอ แปลว่า เคยกินหรือ หอน ที่ว่านี้ไม่ใช่เสียงหอนของสุนัข แต่เป็นคำเดียวกับคำว่า ห่อน ที่แปลว่า เคย ขณะที่คนนครศรีธรรมราชชอบพูดคำว่า หมา เช่นคำว่า
หมาพบ แปลว่า ไม่พบ หมากิน แปลว่า ไม่กิน และ หมา นี่ก็ไม่ใช่สุนัข แต่เป็นคำปฏิเสธว่า ไม่ นั่นเอง
ประจวบกับที่ว่ากันว่าคนสงขลาชอบ ยุ ที่ภาษาถิ่นใต้ใช้ว่า ยอน และ คนนครศรีธรรมราชชอบ หลอก ที่ภาษาถิ่นใต้ใช้ว่า ปลิ้น คือ ปลิ้นปล้อน ก็เป็นสิ่งที่รับรู้ต่อกันมาเช่นกัน
จะโดยบังเอิญหรือไม่ก็ไม่รู้ ที่เกิดมีเสียงคล้องจองมาเป็นตัวเชื่อมโยง ระหว่างคำว่า หอน กับ นคร และคำว่า ยอน กับ นคร จึงทำให้เกิดเป็นคำ คล้องจองกระแนะกระแหนกันไปมาอย่างสนุกปากว่า สงขลาหอน นครหมา และ สงขลายอน นครปลิ้น
ว่ากันว่าที่จริง คนสงขลากับคนนครศรีธรรมราช ไม่ค่อยจะได้กระแนะ กระแหนกันเองมากนัก คนถิ่นอื่นน่าจะกระแนะกระแหนคนสองจังหวัดนี้แหละ มากกว่า อันนี้จริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ เคยได้ยินเขาพูดกันมาอย่างนั้น ก็เก็บเอามา เล่าให้ฟังกันอย่างนี้
(ผศ. สนิท บุญฤทธิ์)