รำในวร

รำในวร เป็นสำนวนเปรียบเทียบ หมายถึงดีใจจนลืมตัวลืมสำรวม โดยไม่คำนึงถึงสถานะของตน เป็นคำพูดเชิงตำหนิผู้อาวุโสซึ่งเป็นที่เคารพ นับถือของคนทั่วไปว่าไม่ระงับความรู้สึกเมื่อพบเหตุการณ์ที่ทำให้ดีใจ ถูกใจ แสดงออกจนน่าเกลียด

สำนวนนี้ประกอบด้วยคำว่า รำ หมายถึง การรำอันเป็นกิริยาแสดง อารมณ์รื่นเริง สนุกสนาน โดยทั่วไปมักจะรำเมื่อมีงานต่าง ๆ ที่เป็นงานบุญ งานมงคล เช่น แห่นาคงานบวช งานเลี้ยงสังสรรค์ ผู้รำมักจะเป็นคนหนุ่มสาว หรือเด็ก ๆ ส่วนผู้สูงอายุไม่ค่อยจะรำเนื่องจากเป็นการไม่เหมาะสมกับวัย

คำว่า ในวร หมายถึง พระภิกษุขณะครองจีวรอยู่ แสดงว่ากำลัง ประกอบสมณกิจซึ่งต้องอยู่ในอาการสำรวม เช่น ทำวัตร สวดมนต์ รับกิจนิมนต์ พบปะญาติโยม บางเวลาพระภิกษุอาจประกอบกิจอื่นที่ต้องออกแรง เช่น กวาดลานวัด ตักน้ำ ทำงานโยธา เพื่อความคล่องตัวจึงไม่ต้องครองจีวร เพียงแต่ นุ่งสบงและสวมอังสะเท่านั้น จึงเป็นสิ่งแสดงให้เข้าใจกันว่าพระภิกษุขณะที่ ครองจีวรอยู่นั้นท่านกำลังอยู่ในฐานะที่ต้องสำรวมให้สมกับสมณเพศ ส่วนการ รำนั้นผิดศีลบัญญัติดังคำสอนพระภิกษุใหม่ที่บวชยังไม่ถึง ๕ พรรษาว่า การ ไม่ส่งเสียงเอิกเกริก ดุจการสนุกสนานรื่นเริงหรือคึกคะนองของคฤหัสถ์ก็ดี การไม่พูดตลกโปกฮา ดุจอาการของนักแสดงจำอวดก็ดี การไม่พูดจาเอะอะ ดุจอาการของนักเลงก็ดี เรียกว่า อัปปภัสสตา และการรำขณะเป็นพระภิกษุ ย่อมไม่สมควรอย่างยิ่ง

สำนวน รำในวร จึงเป็นการเปรียบเทียบเชิงตำหนิผู้ที่ไม่สำรวมใจกาย ให้เหมาะสมกับสถานะของตน จึงถูกผู้อื่นตำหนิได้ ดังเช่น ลุงชมพอคนมีมา ขอโลกสาวเท่านั้นแหละ รำในวรเลย แปลว่า ลุงชมเมื่อมีคนรวยมาสู่ขอ ลูกสาวก็แสดงความดีใจ ไม่สำรวมเก็บอาการให้สมกับเป็นผู้ใหญ่

(นายธีระ แก้วประจันทร์)