ขวดโหลฟัดเสาพาน

ขวดโหลฟัดเสาพาน เป็นสำนวนชาวใต้ที่ใช้สั่งสอนหรือตักเตือนไม่ให้ กระทำในสิ่งที่ทำให้ตนเองเสียหายหรือเสียเปรียบ เช่น ถ้าผู้ใหญ่ทะเลาะกับเด็ก ผู้ใหญ่เสียเปรียบกว่า สังคมจะประณามว่าผู้ใหญ่รังแกเด็ก ถ้าเด็กผิดจริงผู้ใหญ่ จะต้องอบรมสั่งสอนเด็กให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะถือว่าผู้ใหญ่ต้องมีความ มั่นคงในอารมณ์ และควรอดทนระงับความโกรธด้วยความไม่โกรธ สำนวน ขวดโหลฟัดเสาพาน มีความหมายอธิบายได้ดังนี้

คำว่า ขวดโหล หมายถึง ขวดแก้วปากกว้าง มีลักษณะเปราะบาง แตกง่าย ตัวขวดใหญ่กว่าปากขวด ปากขวดต้องกว้างพอที่จะเอามือเข้าไปหยิบ ของในขวดได้และมีฝาปิด ขนาดใหญ่เล็กตามแต่ผู้ใช้ประโยชน์จะใช้ทำอะไร ตามสะดวก ในอดีตบ้านไหนที่มีขวดโหลถือว่าบ้านนั้นมีฐานะพอมีอันจะกิน หรือฐานะดี คำว่า ขวดโหล ในสำนวนนี้หมายถึงผู้ใหญ่หรือคนที่มีคุณค่า

คำว่า ฟัด ตรงกับคำว่า ชัด หมายถึง เหวี่ยง, ขว้าง, ปา, ทิ้ง, สาดโดยแรง เช่น พ่อแม่ขู่เด็กที่เล่นกันเสียงดังว่า ถ้าโหมสูเล่นกันเสียงดังพันนี้อิลงไปฟัด ด้วยหลังมือคนที ๆ แล้วอิโร้สึก แปลว่า ถ้าพวกเธอเล่นกันเสียงอึกทึกครึกโครม เช่นนี้ จะลงไปตีด้วยหลังมือคนละที คำว่า โหม แปลว่า หมู่, พวก สู เป็น สรรพนามบุรุษที่ ๓ พันนี้ แปลว่า อย่างนี้ อิ แปลว่า จะ โร้สึก คือ รู้สึก

คำว่า เสาพาน หมายถึง เสาสะพานที่สร้างต่อจากตอม่อ เป็นเสาขึ้นมา เพื่อรองรับคานที่รับพื้นสะพาน อาจทำด้วยไม้ เหล็ก หรือคอนกรีตก็ได้ ชาวใต้ เรียกเสาสะพานว่า เสาพาน โดยตัดคำว่า สะ ออก เพื่อให้สั้นลงและสะดวก ในการเรียก คำว่า เสาพาน ในสำนวนนี้หมายถึงคนที่เกกมะเหรกเกเรหรือ คนพาลที่ไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี

สำนวน ขวดโหลฟัดเสาพาน หมายถึง การขว้างหรือปาขวดโหลให้ กระทบกับเสาสะพาน ด้วยอารมณ์โกรธที่ระงับไม่ได้ ผลของการกระทำนั้น จะทำให้ขวดโหลแตกละเอียด แต่เสาสะพานยังอยู่เหมือนเดิม เพราะเสา สะพานแข็งแรงกว่า

สำนวน ขวดโหลฟัดเสาพาน จึงเปรียบได้กับการโต้ตอบหรือทะเลาะ กับคนพาล ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สมควร ซึ่งจะทำให้ตนเองเสียหายและ หมดคุณค่า ดังตัวอย่างที่ชาวใต้พูดว่า พี่หลวงเหอ อย่าไปรบกับเด็กกางหลาง ชังกั้งคนนั้น เรื่องพรื่ออิเอาขวดโหลไปฟัดเสาพาน มีแต่เสียกับเสีย แปลว่า พี่ชายเอ๋ย อย่าไปทะเลาะกับเด็กเกเรเกกมะเหรกคนนี้เลย เรื่องอะไรจะเอา ขวดโหลไปฟาดเสาสะพาน มีแต่จะเสียหาย เพราะผู้ใหญ่ที่ทะเลาะกับเด็กที่ เกกมะเหรกเกเร ไม่มีประโยชน์อะไร สังคมจะประณามว่าผู้ใหญ่รังแกเด็ก

สำนวน ขวดโหลฟัดเสาพาน ตรงกับสำนวนภาคกลางที่ว่า อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ อย่าเอาเนื้อไปแลกกับหนัง อย่าเอาทองไปรู่ กระเบื้อง คำว่า พี่หลวง แปลว่า พี่ชายที่บวชแล้ว เหอ แปลว่า เอย, เอ๋ย รบ แปลว่า ทะเลาะ กางหลาง แปลว่า เกเร ชังกั้ง แปลว่า เกกมะเหรก เรื่องพรื่อ แปลว่า เรื่องอะไร

(ผศ. ปองทิพย์ หนูหอม)