ปากว่าตาขยิบ
ปากว่าตาขยิบ เป็นสำนวนเปรียบเทียบ หมายถึงการพูดอย่างหนึ่ง แต่ทำหรือให้คนอื่นทำอีกอย่างหนึ่งตรงกันข้ามกับที่พูด เช่น ผู้อำนวยการ กล่าวว่าโรงเรียนนี้ไม่เก็บแป๊ะเจี๊ยะ แต่ส่งสัญญาณให้ผู้ช่วยเก็บแทน อย่างนี้ เรียกว่าปากว่าตาขยิบ, ปากบอกว่าไม่รับสินบน แต่ก็ปากว่าตาขยิบ ถ้าไม่ให้ สินบนก็ไม่จัดการเรื่องให้
คำว่า ขยิบ ใช้กับ ตา เป็นกริยาหมายถึงอาการที่หรี่ตาข้างหนึ่งลง แล้วเปิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นการส่งสัญญาณให้ผู้อื่นรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ต่อไป เช่น พอแขกเข้ามาในห้อง คุณแม่ก็ขยิบตาให้เด็ก ๆ ออกไป อาการ ขยิบตาเพื่อส่งสัญญาณเช่นนี้จะต้องเป็นที่เข้าใจกันระหว่างผู้ส่งกับผู้รับอยู่แล้ว ผู้รับสัญญาณจึงจะทำได้ตามประสงค์ ในตัวอย่างนี้แม่ไม่อยากจะออกปากบอก ลูก ๆ โดยตรงว่าให้ออกไปเล่นข้างนอกก่อน เพราะแม่จะคุยกับแขก แต่แม่ ขยิบตาส่งสัญญาณให้ลูกได้ เพราะลูกเคยได้รับสัญญาณเช่นนี้มาก่อน
(ศ. ดร.กุสุมา รักษมณี)