ภาษิตว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ

ครอบครัวของคนล้านนามีลักษณะเช่นเดียวกับครอบครัวของคนไทย ทั่วไป ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวตลอดจนเครือญาติ มีทั้งที่เป็นใน ทางสงเคราะห์เกื้อกูลกัน และเหินห่างหมางเมินกัน บางครั้งถึงขั้นแก่งแย่งชิงดี ชิงเด่นกันก็มี จึงมีภาษิตที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวอยู่หลาย บทด้วยกัน

คนล้านนาเรียก ญาติ ว่า พี่น้อง [ปี้น้อง] บางครั้งพูดเป็นคำซ้อนกับคำ ภาษาบาลีเป็น ญาติพี่น้อง [ญา-ติปี้น้อง] คำว่า พี่น้อง [ปี้น้อง] ในภาษิตล้านนา จึงอาจหมายถึงพี่น้องที่สืบสายเลือดกันโดยตรง หรืออาจหมายถึงเครือญาติ ก็ได้

คนที่เป็นพี่น้องหรือญาติที่อยู่ใกล้ชิดกัน เห็นกันอยู่เป็นประจำ บางครั้งจึง มองข้ามความดีและความสำคัญของกันและกันไป ตรงข้ามถ้าหากนาน ๆ พบกัน ก็จะเห็นว่าเป็นคนดีหรือมีความสำคัญมากกว่า ดังมีภาษิตว่า

พี่น้องกัน อยู่ไกลกินของฝาก อยู่ใกล้กินสากมอง (ปี้น้องกั้น อยู่ไกลกิ๋น ของฝาก อยู่ใกล้กินสากมอง) หมายถึง พี่น้องหรือญาติที่อยู่ไกลกันมักคิดถึงกัน เมื่อมาเยี่ยมเยียนก็จะมีของให้กันและกัน แต่พี่น้องหรือญาติที่อยู่ใกล้กันย่อม มีโอกาสที่จะมีเรื่องกระทบกระทั่งหรือทะเลาะเบาะแว้งกันได้มากกว่าพี่น้อง หรือญาติที่อยู่ไกลกัน บางครั้งอาจลงไม้ลงมือกันถึงขั้นใช้อาวุธ

มอง แปลว่า ครกตำข้าว

สากมอง แปลว่า สากตำข้าว มักทำจากท่อนไม้

ภาษิตนี้ได้นำสากตำข้าวมาเปรียบเทียบกับการกระทบกระทั่งกัน เหมือนสากกับมองหรือครก นอกจากนี้ สากยังเปรียบกับอาวุธที่หนาและหนัก อีกด้วย มีภาษิตอีกบทหนึ่งที่คล้ายคลึงกับภาษิตข้างต้นคือบทที่ว่า

ลูกอยู่ไกลได้กินหัวไก่ ลูกอยู่ใกล้ได้กินหัวมุย [ลูกอยู่ไกลได้กินหัวไก่ ลูกอยู่ใกล้ได้กินหัวมุย] แปลว่า ลูกอยู่ไกลได้กินหัวไก่ ลูกอยู่ใกล้ได้กินสันขวาน

หัวมุย แปลว่า สันขวาน, หัวค้อน

ภาษิตนี้เปรียบว่าลูกที่อยู่ไกลพ่อแม่ นาน ๆ จะมาเยี่ยมครั้งหนึ่ง ก็มักจะมีของมาฝากและเอาอกเอาใจสารพัด พ่อแม่ก็มักจะปลื้มใจ ทุ่มเทความรักให้แก่ลูกคนนั้น เสมือนการให้ลูกได้กินหัวไก่ซึ่งเป็นส่วนที่มีสมองไก่ มีรสชาติอร่อย ต่างกับลูกที่อยู่ใกล้ชิดหรืออยู่ปรนนิบัติดูแลพ่อแม่ย่อมมีโอกาสทำให้ท่านขัดเคืองใจหรือไม่พอใจได้ง่ายเป็นธรรมดา เพราะอยู่ด้วยกันทุกวัน พ่อแม่ก็มักจะตำหนิติเตียน ด่าทอ หรือพ่อแม่บางคนก็อาจถึงขั้นลงโทษเฆี่ยนตีให้ลูกคนนั้นได้รับความเจ็บช้ำน้ำใจหรือน้อยใจเหมือนกับทำโทษลูกด้วยสันขวาน

ภาษิตบางบทยังสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนล้านนาว่า บางครั้งคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องยังจะสามารถพึ่งพาได้มากกว่าญาติของตนเสียอีก ดังภาษิตที่ว่า

พี่น้องเป็นดี บ่ดีไปกราย สหายเป็นดี หื้อหมั่นไปใกล้ [ปี้น้องเป็นดี บ่ดีไปกราย สหายเป็นดี หื้อหมั่นไปใกล้] แปลว่า ถ้าญาติพี่น้องได้ดี อย่าไปใกล้กราย แต่ถ้าเพื่อนฝูงได้ดี ให้หมั่นไปใกล้ชิด

เป็นดี [เป็นดี] หรือ เป็นดีมีฮั่ง [เป็นดีมีฮั่ง] แปลว่า มีฐานะดี, มั่งคั่งร่ำรวย

ภาษิตนี้สอนว่าไม่ควรไปข้องแวะกับญาติพี่น้องที่ได้ดีมีฐานะแล้ว เพราะอาจถูกมองว่าไปรบกวนหรือไปขอความช่วยเหลือจากเขา และอาจจะถูกมองด้วยสายตาดูถูกเหยียดหยามว่าไม่มีความสามารถจะสร้างฐานะได้อย่างเขาทั้ง ๆ ที่มาจากพื้นฐานครอบครัวแบบเดียวกัน ไม่เหมือนกับเพื่อนฝูงที่มักจะไม่คิดเล็กคิดน้อย และมีความปรารถนาดีมากกว่า

ภาษิตอีกบทหนึ่งกล่าวในทำนองเดียวกันว่า

เพิ่งพี่เจ็บท้อง เพิ่งน้องเจ็บใจ [เปิ้งปี้เจ็บต้อง เปิ้งน้องเจ็บใจ๋] หมายถึง การพึ่งพาอาศัยพี่น้องหรือญาติมักจะทำให้อึดอัดคับข้องหรือเจ็บช้ำน้ำใจได้ เพราะอาจจะถูกค่อนแคะหรือลำเลิกบุญคุณ ภาษิตนี้มุ่งสอนให้รู้จักพึ่งตัวเองมากกว่าไปหวังพึ่งคนอื่นแม้แต่ญาติพี่น้อง

ภาษิตที่กล่าวมาทั้งหมดแสดงว่าคนล้านนามองความสัมพันธ์ระหว่าง ญาติพี่น้องว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเปราะบาง จึงมีภาษิตที่สอนให้รักษา ระยะห่างระหว่างกัน และพยายามไม่รบกวนหรือขอความช่วยเหลือกันถ้าไม่มี เหตุจำเป็นจริง ๆ เพราะแม้จะเป็นพี่น้องหรือญาติกันก็ต่างจิตต่างใจอาจทำให้ เกิดปัญหาได้ ดังภาษิตที่ว่า

ไม้เล่มเดียวยังต่างปล้อง พี่น้องยังต่างใจ [ไม้เล้มเดียวญัง ต่างป้อง ปี้น้องญังต่างใจ] แปลว่า ไม้ลำเดียวกัน ปล้องยังยาวต่างกัน พี่น้อง ก็ย่อมต่างจิตต่างใจเป็นของธรรมดา

แม้ว่าภาษิตที่ยกมาข้างต้นจะแสดงให้เห็นว่าคนล้านนามองความ สัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ควรรบกวนหรือขอ ความช่วยเหลือหากไม่มีความจำเป็น โดยเฉพาะการไปขอความช่วยเหลือ เรื่องเงินทองหรือเข้าไปก้าวก่ายผลประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตามคนล้านนาก็ยัง ให้ความสำคัญต่อคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องมากกว่าคนนอกครอบครัว ดังภาษิตที่ว่า

เลือดข้นกว่าน้ำ ตรงกับภาษิตภาคกลางว่า เลือดข้นกว่าน้ำ นั่นเอง

ข้น คือ ข้น

คนล้านนาเชื่อว่าญาติพี่น้องถึงอย่างไรก็ตัดกันไม่ขาด โกรธกันไม่นาน ประเดี๋ยวก็จะกลับมาดีกันได้ ดังภาษิตที่ว่า

พี่น้องผิดกันเหมือนพร้าฟันน้ำ ปี้น้องผิดกันเหมือนพ้าฟันน้ำ หมายความว่า ญาติพี่น้องถึงจะทะเลาะหรือโกรธกันรุนแรงเพียงใด ก็ตัดกัน ไม่ขาด เหมือนกับเอามีดพร้าฟันน้ำ ตัดอย่างไรน้ำก็ไม่มีวันขาดออกจากกัน

ผิด [ผิด] หมายถึง ทะเลาะ, โกรธ

มีภาษิตบทหนึ่งว่า พี่น้องเหมือนท้องขันหมาก คนใดอยากก็กิน (ปี้น้อง เหมือนต้องขันหมาก คนใดอยากก็กิน] แปลว่า ญาติพี่น้องเหมือนเชี่ยนหมาก คนใดอยากกินหมากก็กินได้ทุกเวลา หมายถึง เมื่อมีความเดือดร้อนสิ่งใด ก็สามารถไปพึ่งพาญาติพี่น้องได้ตลอด เหมือนสำรับหมากที่มีหมากให้กิน อยู่เสมอ

ขันหมาก หมายถึง เชี่ยนหมาก

ท้องขันหมาก [ต้องขันหมาก] หมายถึง ส่วนของเชี่ยนหมาก ซึ่งใช้บรรจุหมากพลู ตลอดจนเครื่องใช้เกี่ยวกับการกินหมาก

มีภาษิตที่สอนให้หมั่นรักษาสัมพันธภาพระหว่างหมู่ญาติพี่น้องอยู่เสมอ

เงินคำบ่ใช้เป็นหินเป็นผา พี่น้องบ่ขึ้นสู่ลงหาเป็นเพิ่นคนอื่น [เงินคำบ่อไจ๊เป็นหินเป๋นผา ปี้น้องบ่อขึ้นสู่ลงหาเป๋นเปิ้นคนอื่น] แปลว่า เงินทอง ไม่ใช่เป็นก้อนหินก้อนผา พี่น้องไม่ไปมาหาสู่กันก็เป็นคนอื่น หมายถึง เงินทอง เมื่อไม่ใช้ก็ไม่มีค่าอะไร ญาติพี่น้องหากไม่ไปมาหาสู่กันก็ย่อมจะห่างเหินกัน เหมือนเป็นคนอื่นคนไกลไปเสีย

ภาษิตอีกบทหนึ่งกล่าวว่า บ่กินผักบ่มีเหยื้อท้อง คนบ่เอาพี่เอาน้อง เสียหน่อเสียแนว [บ่อกิ๋นผักบ่อมีเหยื้อต๊อง คนบ่อเอาปี้เอาน้อง เสียหน่อ เสียแนว] แปลว่า ไม่กินผักไม่มีกากใยในท้อง คนไม่เอาพี่เอาน้อง เสียเชื้อแถว หมายถึง คนที่ไม่ไปมาหาสู่หรือติดต่อสัมพันธ์กับญาติพี่น้อง คนนั้นก็จะเสีย ญาติพี่น้องไป ไม่มีใครนับเป็นญาติ

เหยื้อ หมายถึง กากใย

(นายยุทธพร นาคสุข)