ภาษิตว่าด้วยการวางตัวของคนแก่และคนหนุ่ม

ล้านนามีภาษิตที่มีเนื้อความเกี่ยวกับคนแก่และคนหนุ่มหลายบท ภาษิต บทหนึ่งมีว่า

หนุ่มเอาเค้า เฒ่าเอาปลาย [หนุ่มเอาเก๊า เถ้าเอาป่าย]

เค้า [เก๊า] แปลว่า ต้น หรือ โคน หมายถึง ส่วนโคนของต้นไม้ ภาษิตบทนี้เปรียบเทียบการแบกไม้ คนหนุ่มมีความแข็งแรงควรแบก ส่วนโคนซึ่งมีขนาดใหญ่และหนัก ส่วนคนแก่ควรยกส่วนปลายซึ่งเบากว่า เมื่อ ทั้งสองฝ่ายช่วยกันแบกก็สามารถนำไม้ไปใช้ประโยชน์ได้ ภาษิตบทนี้สะท้อน ให้เห็นว่าตามทัศนะของคนล้านนานั้นทั้งคนแก่และคนหนุ่มต่างก็มีบทบาท และมีความสำคัญในสังคม หากช่วยกันทำงานตามกำลังความสามารถของตน ก็จะช่วยให้การงานสำเร็จลุล่วงไปได้

สังคมล้านนาให้ความสำคัญกับประสบการณ์และการเรียนรู้วรรณกรรม คำสอนของล้านนาเช่น เรื่องเจ้าวิทูรสอนโลก ให้ข้อคิดว่า ควรให้ความเคารพ นับถือคนแก่ เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์มาก ในขณะเดียวกันก็ไม่ให้ประมาท คนหนุ่ม เพราะคนหนุ่มบางคนมีปัญญา สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว วรรณกรรมคำสอนเรื่องเจ้าวิทูรสอนโลกเปรียบเทียบคนแก่ที่มีประสบการณ์ว่า เหมือนช้างที่ผ่านศึกมามาก ย่อมเชี่ยวชาญในการชน และเปรียบคนหนุ่มที่ เฉลียวฉลาดว่าเหมือนช้างหนุ่มที่มีความกล้าและมีไหวพริบก็สามารถมีชัยใน การต่อสู้ได้ ภาษิตล้านนาบทหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนล้านนาเห็นว่าคนแก่เป็นผู้มี คุณค่า โดยเปรียบเทียบว่า

ไม้ต้นเดียวบ่เป็นเหล่า บ่มีคนเฒ่าบ่เป็นบ้านเป็นเมือง [ไม้ต้นเดียวบ่เป็นเหล่า บ่มีคนเถ้าบ่เป็นบ้านเป็นเมือง] หมายถึง ไม้ต้นเดียวไม่สามารถจะเป็นป่าได้ไม่มีคนแก่คนเฒ่าก็เป็นบ้านเป็นเมืองไม่ได้ ภาษิตบทนี้ชี้ให้เห็นว่าคนแก่คนเฒ่ามีความสำคัญต่อบ้านเมือง เป็นหลักของบ้านเมืองเพราะนอกจากมีส่วนในการสร้างและทำนุบำรุงบ้านเมืองมา ยังเป็นผู้ที่มีความรู้มีประสบการณ์มาก โดยเฉพาะเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งจำเป็นต่อบ้านเมือง

เหล่า แปลว่า ป่าละเมาะ ในที่นี้หมายถึง ป่า

ภาษิตที่ให้ความสำคัญกับคนแก่อีกบทหนึ่งว่า

จอมปลวกเป็นแสงแก่ข้าว คนแก่คนเฒ่าเป็นแสงแก่หอแก่เรือน [จ้อมปวกเป็นแสงแก่เข้า คนแก่คนเถ้าเป็นแสงแก่หอแก่เฮือน] หรือ จอมปลวกอยู่ยังนาว่าเป็นแสงข้าว คนแก่คนเฒ่าอยู่ยังเรือนว่าเป็นแสงเรือน [จ้อมปวกอยู่นังนาว่าเป่นแสงเข้า คนแก่คนเถ้าอยู่นังเฮือนว่าเป็นแสงเฮือน]

แสง ในภาษาไทยถิ่นเหนือและภาษาชนชาติไทหลายกลุ่มแปลว่าแก้วซึ่งถือว่าเป็นสิ่งมีค่ายิ่ง ล้านนาเชื่อว่าจอมปลวกที่เกิดขึ้นในนาเป็นมงคลแก่นา จึงถือว่าเป็นแก้วหรือเป็นมิ่งขวัญของข้าวของนา เช่นเดียวกับบ้านที่มีคนแก่นับว่าเป็นมงคลแก่บ้าน ถือว่าเป็นแก้วหรือเป็นมิ่งขวัญของบ้านเรือน เพราะคนแก่เป็นบุคคลที่มีคุณค่า เนื่องจากได้เลี้ยงดูลูกหลานมาและมีประสบการณ์มาก นอกจากให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูกหลานแล้ว ยังเป็นที่พึ่งในด้านความคิดและความรู้ในการดำเนินชีวิตได้

อย่างไรก็ดี คนแก่ที่น่าเคารพนับถือในทัศนะของคนล้านนานั้นควรเป็นคนดีมีศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี คนล้านนาให้ความสำคัญกับการอบรมสั่งสอนและการไปวัดเพื่อฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ภาษิตที่สะท้อนให้เห็นความคิดนี้มีใจความว่า

ขะยมดีย้อนทุเจ้า ลูกเต้าดีย้อนพ่อแม่ คนแก่ดีย้อนฟังธรรม [ขะญมดีญ้อนตุ๊เจ้า ลูกเต้าดีญ้อนป้อแม่ คนแก่ดีญ้อนฟังทำ] บางที่ก็ใช้ว่า ขะยมดีเพื่อทุเจ้า ลูกเต้าดีเพื่อพ่อแม่ คนแก่ดีเพื่อฟังธรรม [ขะญมดีเปื้อ ตุ๊เจ้า ลูกเต้าดีเปื้อป้อแม่ คนแก่ดีเปื้อฟังทำ]

ชะยม [ขะญม] แปลว่า เด็กวัด

ทุเจ้า [ตุ๊เจ้า] มาจากคำว่า สาธุเจ้า หมายถึง พระภิกษุ

ย้อน [ญ้อน] และ เพื่อ [ปื้อ] มีความหมายตรงกัน แปลว่า เพราะ, เนื่องจาก

ภาษิตที่ยกมานี้แปลว่า เด็กวัดดีเพราะพระสงฆ์ ลูกเต้าดีเพราะพ่อแม่ และคนแก่ดีเพราะฟังธรรม หมายความว่า เด็กวัดจะเป็นคนดีก็เพราะได้รับ การอบรมจากพระสงฆ์ ลูกเต้าจะเป็นคนดีก็เพราะมีพ่อแม่อบรมสั่งสอน ส่วน คนแก่ที่เป็นคนดีก็เพราะได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ภาษิตล้านนากล่าวถึงคนแก่ที่ไม่น่านับถือว่าได้แก่คนที่ แก่เพราะ กินข้าว เฒ่าเพราะเกิดเมิน [แก่เพาะกิ้นเข้า เถ้าเพาะเกิดเมิน]

เมิน แปลว่า นาน หมายความว่า คนแก่ประเภทนี้บังเอิญมีอายุยืน เพราะมีอาหารรับประทานและเกิดมานานเท่านั้น ไม่สนใจที่ประพฤติตนอยู่ใน ศีลธรรม ล้านนามีสำนวนเรียกคนแก่ประเภทนี้ว่า เป็นคนที่ แก่บ่ดอกบ่ดาย ตรงกับภาษาไทยกรุงเทพว่า แก่เปล่า ๆ ปลี้ ๆ

คนล้านนาตำหนิคนที่ไม่นับถือศาสนา คือ ไม่เข้าวัด ไม่ไหว้พระว่า เป็นคนบาปหนา ดังมีภาษิตบทหนึ่งว่า วัดบ่เข้า พระเจ้าบ่ไหว้ คือคนหนา

[วัดบ่อเข้า พะเจ้าบ่อไหว้ กือคนหนา]

พระเจ้า [พะเจ้า] หมายถึง พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูป

คนหนา หมายถึง คนกิเลสหนา หรือ คนบาป

(ศ. ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์)